ประกันโควิด-19 “เจอจ่ายจบ” มหากาพย์ลากยาวที่ดูเหมือนว่าจะหาทางจบไม่เจอ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้สนใจทำประกันชนิดนี้จำนวนมหาศาล และทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายเบี้ยประกันดังกล่าวไม่สามารถชำระเบี้ยได้ เพราะพิษไวรัสโควิดที่แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนต้องปิดตัวไปถึง 4 บริษัท รวมยอดเบี้ยค้างจ่ายกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท และเจ้าหนี้ประมาณ 6.7 แสนราย กลายเป็นภารกิจที่กองทุนประกันวินาศภัย หรือ กปว. จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้กับประชาชนที่เป็นหนี้เกิดจากสัญญาประกันภัยโควิด-19 ของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมทุกกรมธรรม์ต่อ 1 ราย) ตามหลักเกณฑที่กฎหมายกำหนด ให้ กปว.ความคุ้มครองเจ้าหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัย กรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต ตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมา กปว.จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาคืนหนี้ที่ กปว.ไม่ได้เป็นคนก่อ หากแต่ต้องดำเนินการแทนบริษัทประกันภัยของเอกชนที่ปิดตัวลงไป และรักษาความเชื่อมั่นในระบบการประกันภัย แต่ในช่วงที่ผ่านมา สามารถเคลียร์หนี้คืนให้เจ้าของกรมธรรม์ได้เพียง 3 พันล้านบาท ยังเหลือหนี้คงค้างอีกมาถึง 5.1 หมื่นล้านบาท กับจำนวนเจ้าหนี้อีก 6 แสนกว่าราย และที่น่ากังวลใจอย่างยิ่งก็คือในปี 2567 กปว.จะมีเงินค่าธรรมเนียมที่บริษัทประกันวินาศภัยส่งเข้ามาให้กับ กปว.เพียงแค่ 1.2 พันล้านบาท (ต่อปี) ซึ่งเป็นจำนวนน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับหนี้คงค้างในระบบที่มีมากถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท
จะว่าไปแล้ว กปว.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อภารกิจที่ต้องเข้ามารับผิดชอบ ตามกฎระเบียบที่ระบุไว้ว่า กปว. จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้กับประชาชนที่เป็นหนี้เกิดจากสัญญาประกันภัยโควิด-19 ของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมทุกกรมธรรม์ต่อ 1 ราย) แต่กรณีประกันภัยโควิด-19 เป็นอุบัติการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการประกันภัย เพราะมีการปิดบริษัทที่ขายประกัน “เจอจ่ายจบ” พร้อมกันรวดเดียว 4 บริษัท หนี้คงค้างสูงถึง 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเกินกว่าหน่วยงานเล็กๆอย่าง กปว.จะรับผิดชอบได้เพียงลำพัง
หากประเมินหนี้โควิด “เจอจ่ายจบ” ที่ กปว.ต้องชดใช้คืนเจ้าหนี้กว่า 6 แสนราย จำนวนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ กปว.มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพียงปีละ 1.2 พันล้านบาท หักเงินค่าใช้จ่ายประจำแล้วก็จะเหลือเงินที่ต้องนำมาเคลียร์คืนเจ้าหนี้ประกันโควิดไม่ถึง 1.2 พันล้านบาท ซึ่งหากใช้สมการนี้ในการชำระหนี้คืนผู้ทำกรมธรรม์โควิด-19 ก็จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 50-60 ปีกว่าจะเคลียร์จบ ด้วยเหตุนี้ กปว.จึงพยายามคิดหาทางอื่นเพื่อนำเงินมาเคลียร์คืนเจ้าหนี้ โดยต้องหาเพิ่มให้ได้อย่างน้อยปีละ 1 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการเสนอเพิ่มเงินค่าธรรมเนียมที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องจ่ายให้กับ กปว.ต่อปี (อย่างน้อยก็จนกว่าจะเคลียร์หนี้จบ) เพื่อให้มีเม็ดเงินนำมาคืนเจ้าหนี้ได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากบอร์ดบริหารธุรกิจประกันภัย หรือในกรณีทำเรื่องขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ก็ไม่ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากรายได้ของ กปว.เพียงปีละ 1.2 พันล้านบาท ไม่สูงพอที่สถาบันการเงินจะอนุมัติให้สินเชื่อจำนวนมากได้ เพราะฉะนั้นในปี 2567 หนี้ประกันโควิด-19 อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจาก กปว.เหลือเงินเพียงพันกว่าล้านในการชดใช้คืน
เมื่อพิจารณาไปในหนทางอื่นที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ก็อาจจำเป็นต้องให้หน่วยงาน regulator อย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการหนี้ก้อนนี้ โดยชงเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง เสนอคณะรัฐมนตรี จัดงบประมาณมาให้เป็นการเฉพาะกิจ เหมือนกรณีการแก้ไขหนี้นอกระบบที่รัฐบาลตั้งเป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งจะว่าไปแล้วหนี้โควิด-19 ก็เปรียบเสมือนหนี้ของรัฐบาลโดยตรง เพราะ กปว.เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ก็เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ขณะที่หลายครอบครัวต้องการเงินก้อนนี้ไปประทังชีวิต แต่เมื่อ กปว.ไม่มีเงิน ทวงไปก็เหมือนรีดเลือดกับปู หาก คปภ. กระทรวงการคลัง หรือรัฐบาล ไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ อาจทำให้เกิดปัญหาส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยได้