บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมสนับสนุนโครงการ สุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ
โครงการ สุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่มีแผนงานรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายและได้มีการกำหนดเป้าหมายลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนร่วมกัน โดยสนับสนุนเงินรางวัลให้กับข้าราชการตำรวจและหน่วยงาน ที่สามารถดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฎิบัติงานและ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัยด้วยวินัยจราจรให้กับสังคมไทยต่อไป โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละพื้นที่ตามเป้าหมาย สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 5 หรือลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากกว่า 10 คนต่อปีของสถิติการเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้ข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ปี พ.ศ. 2560-2562 จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ www.Thairsc.com และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจและหน่วยงานที่ปฎิบัติหน้าที่สายงานจราจรโดยการคัดเลือกและมอบรางวัลให้ข้าราชการตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่ในงานจราจรและหน่วยงาน โดยเน้นหลัก 5S ได้แก่ SMILE (ยิ้มแย้มแจ่มใส),SMART (มีบุคลิกภาพที่ดี),SALUTE (ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุภาพให้เกียรติ),SERVICE MIND (ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตบริการสาธารณะ) และSTANDARD (ยกระดับมาตรฐานการทำงาน ความรู้เทคโนโลยี ความเสมอภาค) โดยแบ่งรางวัลเป็นประเภทบุคคล กองบังคับการละ 2 นาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 194 นาย ประเภทหน่วยงาน ในสังกัดแต่ละกองบัญชาการ ที่ชนะเลิศ 1 หน่วยงาน รองชนะเลิศ 2 หน่วยงาน ชมเชย 2 หน่วยงาน รวมทุกกองบัญชาการจำนวนทั้งสิ้น 51 หน่วยงาน โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1
ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการฯ สามารถป้องกันการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 1,550 ราย โดยการเปรียบเทียบข้อมูลการเสียชีวิต 3 ปีย้อนหลังล่วงก่อนโควิดในรอบ10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม ปี 2560-2562 เสียชีวิตเฉลี่ย 13,830 ราย) ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนตุลาคม 2565 – สิงหาคม 2566 มีผู้เสียชีวิต 12,280 ราย บาดเจ็บจากเฉลี่ย 3 ปี จำนวน 622,080 ราย จากเริ่มโครงการถึงสิงหาคม มีผู้บาดเจ็บ 510,420 ราย ลดลง 111,660 ราย เชื่อว่าเป็นผลมาจากการตั้งจุดตรวจ ตามจุดเสี่ยงต่างๆ ของแต่ละจังหวัด ที่มีการตั้งจุดตรวจจำนวนมากกว่า 74,000 ครั้ง (จากระบบการตั้งจุดตรวจของตำรวจ) และกิจกรรมอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการในทุกพื้นที่