บีโอไอเร่งขับเคลื่อนลงทุนภาคอีสาน ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจ NeEC สู่เมืองหลวง BCG ของอาเซียน

315

บีโอไอยกทีมเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน “NEW Economy, NEW Opportunities” ชี้โอกาสการลงทุนพร้อมมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีนักธุรกิจไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 250 คน พร้อมผลักดันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) 4 จังหวัด เป็นหัวหอกในการยกระดับทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสานเติบโตไปพร้อมกัน สู่การเป็นเมืองหลวง BCG ของภูมิภาคอาเซียน เผยยื่นขอรับส่งเสริมในภาคอีสานไตรมาสแรกกว่า 3,800 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 บีโอไอร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงาน “NEW Economy, NEW Opportunities” โดยเป็นการจัดงานต่อเนื่องจากภาคตะวันออกและภาคเหนือ เพื่อประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ โดยมีนักธุรกิจในภาคอีสานทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 250 คน

“ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคที่มีพื้นที่มากที่สุดกว่า 160,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกสูงถึงร้อยละ 43 ของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา มีขนาดประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ กว่า 22 ล้านคน รวมถึงเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ และเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานวิจัยจำนวนมาก อีกทั้งภาคอีสานอยู่ในจุดที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้อย่างดี จุดแข็งและสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ภาคอีสานจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่” นายนฤตม์ กล่าว

ในงานสัมมนา บีโอไอได้นำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) มาตรการส่งเสริม SMEs และมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ศักยภาพและโอกาสด้านการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งในการเสวนาได้กล่าวถึงศักยภาพและโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมชีวภาพ มาตรการสนับสนุนของภาครัฐในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้หารือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนนโยบาย “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC” ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดย NeEC เป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ใน 4 ภาค ที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และบีโอไอได้ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 แห่ง เรียบร้อยแล้ว

“ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่ NeEC ผนวกกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยบีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำโดยเฉพาะวัตถุดิบการเกษตรท้องถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง ผ่านการผนึกพลังของ 4 จังหวัด NeEC และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน จะส่งผลให้ NeEC สามารถสร้างฐานการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพแบบครบวงจร หรือไบโอคอมเพล็กซ์ และก้าวไปสู่การเป็นเมืองหลวง BCG (Bio-Circular-Green Industry) ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด” นายนฤตม์กล่าว

สำหรับยอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร