บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร (Bayer Agri-Solution Research Center) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีเป้าหมายเพื่อนำนวัตกรรมด้านการเกษตรและเกษตรอัจฉริยะ (Digital Farming) พร้อมเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรไทย
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในพิธีเปิดศูนย์ฯ ว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตรมากขึ้น และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และความมั่นคงของผลผลิต ดังนั้นการเปลี่ยนจากการทำเกษตรดั้งเดิมมาเป็นเกษตรยุคใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาใช้จึงมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เกษตรกรยุคใหม่จึงต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเมล็ดพันธุ์ ดิน น้ำ ปุ๋ย รวมถึงลดการใช้แรงงานคน ซึ่งนับวันแรงงานในภาคเกษตรจะหายากมากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกษตรกรอยู่รอดอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย
โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทย อย่างไรก็ตามการเติมเต็มความรู้ให้เกษตรกรตามทันเทคโนโลยี และนำมาใช้อย่างเข้าใจเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งศูนย์วิจัยต่างๆ สามารถเข้ามาสนับสนุนภารกิจนี้ได้อย่างดี
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรไบเออร์ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรครอบคลุมข้าว ข้าวโพด รวมถึงผักชนิดต่างๆ ศูนย์ฯ ได้พัฒนาและส่งมอบคำแนะนำแบบบูรณาการโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับการดูแลพืชผล และการจัดการศัตรูพืช และ Artificial Intelligence (AI) (เอไอ ดิจิทัลสมองกล) เพื่อการวินิจฉัย และการทำการเกษตรแบบอัจฉริยะ ทั้งนี้ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน
มิสเตอร์เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีความยินดีกับทุกภาคส่วนในความร่วมมือทวิภาคี โดยพร้อมสนับสนุนนโยบายของประเทศไทยที่มีต่อการเกษตรแบบยั่งยืน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อนำมาปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการนี้ ขอขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการศึกษาวิจัยในอนาคตให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรในเส้นทางสู่การทำการเกษตรแบบยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยด้านเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา และสังคม
ทางด้าน มิสเตอร์ศรีนาถ บาลา ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระดับภูมิภาค APAC (Regional APAC Head of Field Solution, Bayer Crop Science APAC) กล่าวว่า ไบเออร์ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยที่เกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ยังสนับสนุนให้การพัฒนาแนวทางการจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ
มิสเตอร์ศรีนาถ กล่าวเสริมว่า ศูนย์ฯ ยังมีส่วนในการดูแลความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ การพ่นสารเคมีอย่างถูกวิธีและปลอดภัย และความปลอดภัยของพืชอาหาร ศูนย์ฯ ยังมีการแนะนำนวัตกรรมการจัดการของเสีย (Phytobac Technology) ที่ช่วยในการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม
นางสาว จินอา ลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ได้รับการอนุมัติในการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยบริษัทฯ ได้มีการขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ข้าวโพด และผักชนิดต่างๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร
ศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่ดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวกับข้าว ข้าวโพด และพืชผัก สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทย ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และเทคโนโลยีโดรน เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว รับมือกับปัญหาด้านการเกษตรทั้งการระบาดของโรคพืช ศัตรูพืช และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสนับสนุนในการยกระดับพืชผลทางการเกษตรสู่ตลาดที่มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มขึ้น ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยเปิดโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาศักยภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่น และเป็นศูนย์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ