หลังจากการเกิดโควิด-19 อาเซียนมีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจการค้าของโลกอย่างรวดเร็ว จากรายงาน ASEAN Investment Report 2022 ระบุว่า ปี 2564 มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42% มูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยตลาดขนาดใหญ่และความร่วมมือภายในภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญรองจากจีน ซึ่งการลงทุน FDI ช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในรายงานของ IMF ล่าสุด ณ ต.ค. 66 คาดการณ์ว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจของอาเซียน5 (ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) จะขยายตัวร้อยละ 4.5 และขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2567 ซึ่งมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 2.9 ตามลำดับ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาเซียนกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จากการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจพร้อมกับการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ประกอบกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งอาเซียนเป็นหนึ่งหมุดหมายที่บริษัทต่าง ๆ จะเข้าไปลงทุนมากขึ้น ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ออกมาตรการและลดกฎระเบียบทางการค้าเพื่อทำให้การค้าการลงทุนง่ายขึ้น รวมทั้งเร่งเจรจา FTA ให้ครอบคลุมประเทศที่กว้างขวางมากขึ้น
ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน ที่มีมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้หลายบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในประเทศจีน ต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีและการควบคุมการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน นอกเหนือจากนั้นแล้ว บริษัทของจีนหลายบริษัทก็ได้มีการย้ายฐานการผลิตเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตของบริษัทจีน ไม่ได้เป็นการย้ายออกโดยเด็ดขาด แต่เป็นการจัดส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ขั้นกลางไปประกอบยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้การค้าระหว่างทั้งสองประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ค่อย ๆ ลดลง จากข้อมูลของ Trademap เมื่อเปรียบเทียบช่วงก่อนการเกิดสงครามการค้า ปี 2561 อยู่ที่ 19.2% ลดลงเหลือ 16.2% ในปี 2565 การส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 7.2% ในปี 2561 เป็น 7.5% ในปี 2565 เมื่อมองที่อาเซียนการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จีนมีสัดส่วนการส่งออกมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 12.9% ในปี 2561 เป็น 15.8% ในปี 2565 โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
ในขณะที่การค้ากับสหรัฐฯ ค่อนข้างคงที่ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้พยายามสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาใหม่ที่แยกออกจากจีน โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานในสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศจนเกิดแนวคิดที่เรียกว่า “Friend-Shoring” ซึ่งเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานกับประเทศที่สหรัฐฯ มีความเชื่อใจ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หยุดชะงัก ในภูมิภาคเอเชีย สหรัฐฯ ได้สร้างกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework for prosperity: IPEF) ขึ้นในปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานกับประเทศในเอเชียให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มอิทธิพลด้านการผลิตและการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้งเพื่อเป็นการคานอิทธิพลทางการค้าของจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้ นอกจากนั้น สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ G-7 ยังมีความพยายามที่จะลดการพึ่งพาการผลิตและการค้ากับจีนที่มากเกินไป เนื่องจากจีนมีบทบาทสำคัญในฐานะการเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ ดังนั้นการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานของจีนในช่วงโควิด-19 ทำให้หลายประเทศได้บทเรียนว่าการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว
ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกฐานการผลิตมาจาก 1) การย้ายฐานการผลิตเพื่อให้อยู่ใกล้กับประเทศแม่ (Nearshoring) และฐานลูกค้ามากขึ้น เช่น การย้ายฐานการผลิตไปยังเม็กซิโก เพื่อช่วยประหยัดค่าขนส่ง อีกทั้งยังสามารถใช้สิทธิพิเศษทางศุลกากรภายใต้ความตกลง USMCA (ประเทศสมาชิกได้แก่ สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา) 2) การย้ายฐานการผลิตโดยพิจารณาจากความเชี่ยวชาญของประเทศปลายทาง เช่น ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ย้ายฐานการผลิตไปยังมาเลเซีย ธุรกิจยานยนต์ย้ายมายังไทย โดยกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าจีน มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ดี มี FTA กับหลายประเทศที่อยู่ใน Friend-shoring และกับประเทศอื่น ๆ ทำให้มีแต้มต่อด้านอัตราภาษีสำหรับธุรกิจที่มุ่งหวังจะใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก
จากข้อมูลของ BOI ในปี 2565 ประเทศไทยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 664,600 ล้านบาท หรือประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากปีก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุน FDI มากที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ 1) อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ (129,500 ล้านบาท) 2) ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) (105,400 ล้านบาท) และ 3) กิจการ Data Center (42,500 ล้านบาท) โดยประเทศที่มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดเรียงตามลำดับได้แก่ 1) จีน 158 โครงการ มูลค่า 77,400 ล้านบาท 2) ญี่ปุ่น 293 โครงการ มูลค่า 50,800 ล้านบาท 3) สหรัฐฯ 33 โครงการ มูลค่า 50,300 ล้านบาท 4) ไต้หวัน 68 โครงการ มูลค่า 45,200 ล้านบาท และ 5) สิงคโปร์ 178 โครงการ มูลค่า 44,300 ล้านบาท
นายพูนพงษ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ไทยจะได้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากมีโครงสร้างการผลิตที่ใกล้เคียงกันทดแทนกันได้ แต่ก็เผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฐานการผลิตสินค้าที่คล้ายคลึงกัน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย จากตลาดที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ เช่น กลุ่มประเทศละตินอเมริกา ดังนั้น ไทยควรมีมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการย้ายฐานการผลิต เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น อีกทั้ง ควรมีการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรมีการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่หลากหลายเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงหากห่วงโซ่อุปทานเกิดปัญหา