นายกสภาวิศวกร เสนอ 4 ทางสู้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

527

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยก 4 ทางสู้ แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ ใช้เทคโนโลยีช่วยสู้ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้แนวเขื่อน(ที่สมบูรณ์)สู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจของคนในชุมชน ใช้กำแพงสองชั้นสู้ เพราะการออกแบบกำแพงเขื่อนแบบเดิมมีโอกาสพังเร็วมาก จากสภาวะการขึ้นลงของน้ำในปัจจุบัน รุนแรงกว่าในอดีต ใช้เขื่อนปากแม่น้ำอัตโนมัติสู้ จากความสำเร็จในต่างประเทศที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ยาวนาน ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องอาจจะส่งผลให้ 10 ปีต่อจากนี้ กรุงเทพฯ ที่ในปัจจุบันเปรียบเป็น ‘กระทะคอนกรีต’ ที่มีลักษณะเป็นก้นลึกต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในหลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

            ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากกรณีน้ำทะเลหนุนสูงสุดในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี ประกอบกับการก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นฟันหลอ และมีรูรั่วหลายจุด อาทิ ท่าเรือ และพื้นที่รุกล้ำ ทั้งกำแพงเขื่อนทรุดพังและรอการแก้ไข ส่งให้ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะประสบปัญหาน้ำท่วมล้นเข้าพื้นที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ในฐานะ ‘นายกสภาวิศวกร’ จึงขอเสนอ “4 แนวทางสู้” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้

  1. ใช้เทคโนโลยีช่วยสู้ เพราะปัญหาน้ำทะเลหนุนสามารถรู้ข้อมูลล่วงหน้าได้ จากการพยากรณ์ช่วงเวลาที่น้ำขึ้น-น้ำลงในทุกวัน และเมื่อพิจารณาร่วมประกอบกับข้อมูลของระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถที่จะตรวจสอบ และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ ดังนั้น หากนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาสนับสนุน จะช่วยให้การทำงานสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น เพราะเมื่อรู้ล่วงหน้า ก็สามารถจัดทำแนวป้องกันชั่วคราว บริเวณฟันหลอ เพื่ออุดรูรั่วกำแพงเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งเตรียมพร้อมอุปกรณ์เสริม อาทิ ปั๊มสูบน้ำอัตโนมัติ มาช่วยเสริมทัพบริเวณที่น้ำทะลัก
  2. ใช้แนวเขื่อน(ที่สมบูรณ์)สู้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งก่อสร้างเสริมแนวเขื่อนให้สมบูรณ์ตลอดแนว เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจของคนในชุมชนมากขึ้น และต้องสร้างประตูระบายน้ำอัตโนมัติ เหมือนสิงคโปร์ โตเกียว ลอนดอน ที่สามารถเปิด-ปิดประตูระบายน้ำได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ที่มาพร้อมความแม่นยำสูง เชื่อมโยงกับระบบพยากรณ์สภาวะอากาศ และระดับน้ำขึ้น-น้ำลง เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดจากคน (Human Error) นอกจากนี้ ยังต้องเก็บข้อมูลสถิติระดับน้ำสูงสุด ที่เกิดจากน้ำหนุน ควบคู่กับการบริหารจัดการมวลน้ำเหนือที่ไหลผ่าน กทม. เพื่อประกอบการวางแผนและป้องกันล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  3. ใช้กำแพงสองชั้นสู้ การออกแบบกำแพงเขื่อนแบบเดิม โอกาสพังเร็วมาก เพราะสภาวะการขึ้นลงของน้ำในปัจจุบัน รุนแรงกว่าในอดีต ดังนั้น อาจต้องออกแบบเป็นกำแพงสองชั้นมีความมั่นคงกว่า เพราะในต่างประเทศมีการออกแบบเป็นกำแพงสองชั้น เพราะนอกจากไม่รุกล้ำพื้นที่ชุมชน เพิ่มพื้นที่ทางเดินริมน้ำให้ประชาชนแล้ว ยังสะดวกต่อการเข้าไปตรวจสอบความเสียหายและบำรุงรักษา อย่างไรก็ตามในหลายพื้นที่ พบกำแพงเขื่อนทรุดจนต่ำกว่าระดับน้ำ และกรณีที่น้ำหนุน ก็ประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมที่อยู่อาศัยของประชาชน ดังนั้น ในอนาคตอาจจะต้องยกขอบกำแพงเขื่อนให้สูงขึ้นอีก
  4. ใช้เขื่อนปากแม่น้ำอัตโนมัติสู้ ในการแก้ปัญหาระยะยาว อาจจำเป็นต้องสร้างเขื่อนปากแม่น้ำที่สามารถเปิด-ปิดได้ เหมือนในต่างประเทศ อาทิ เมืองเวนิส อิตาลี และเมืองรอตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่ได้ทำและประสบความสำเร็จมายาวนาน

          ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องอาจจะส่งผลให้ 10 ปีต่อจากนี้ กรุงเทพฯ ที่ในปัจจุบันเปรียบเป็น ‘กระทะคอนกรีต’ ที่มีลักษณะเป็นก้นลึกต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในหลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น เพราะต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนัก ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ น้ำทะเลหนุนสูงจากภาวะโลกร้อน “ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเร่งศึกษาผลกระทบและงบประมาณ เพราะหากเปรียบเทียบกับความเสี่ยงและความเสียหายที่รุนแรงมากในอนาคต กรุงเทพฯ อาจจะจมน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย