จากวิกฤตภาวะโรคระบาดไวรัสโคโรน่า ทำให้ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ของประเทศไทยอาจจะประสบปัญหาสภาวะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากขาดรายได้และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การปรับราคาสินค้าอาจทำได้ยากในช่วงที่ประชาชน หรือลูกค้าประสบภาวะวิกฤตในช่วงโควิด-19 ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง กรณีดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่วิกฤตทางการเงิน บางธุรกิจที่เคยมีศักยภาพอาจจำเป็นจะต้องปิดกิจการชั่วคราวและถาวรลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการอาจเผชิญความเสี่ยงทางด้านการผลิต เช่น ค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคนตู้คอนเทนเนอร์ หรือการจัดเก็บสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า จากภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้นเกือบจะ 2 ปีที่ผ่านมา ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ภาครัฐควรมีนโยบายมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งจากแหล่งเงินทุนของภาครัฐและสถาบันการเงินรายใหญ่ในภาคเอกชน โดยจะต้องแก้ปัญหาด้านวิกฤตทางการเงินให้กับผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน เน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อและบริการทางการเงินอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม นอกจากนี้ภาครัฐควรมีมาตรการในการลดภาระภาษีหรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆกับผู้ประกอบการ SMEs หรือการงดเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าบางกลุ่ม ควบคู่ไปกับการเพิ่มความช่วยเหลือในการจัดหาแรงงานให้กับผู้ประกอบการหรือพนักงานที่เป็นลูกจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนี้สิ่งที่เอสเอ็มอีไทยควรปรับตัวและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพื่อให้ธุรกิจของตนเองอยู่รอด จัดหาแรงงานที่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีในยุคสมัยใหม่ เพื่อช่วยให้การผลิตและการบริการที่ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอาจต้องพึ่งพากลไกของรัฐบาลในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
“แนวโน้มกลุ่มเอสเอ็มอีไทยที่จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เป็นสินค้าด้านเทคโนโลยีและการใช้พลังงานจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กลุ่มพลังงานจากลมหรือพลังงานจากแสงอาทิตย์จะเป็นกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเร็ว นอกเหนือไปจากนี้จะเป็นในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ทำการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2564 จนถึงไตรมาสที่สาม อัตราการส่งออกของประเทศไทยมีอัตราการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น
หลังจากนี้ผู้ประกอบการไทยต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และพร้อมปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในยุคสมัยใหม่ ที่สำคัญยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดอยู่กับที่ และแสวงหาความร่วมมือต่างๆจากในกลุ่มธุรกิจเดียวกันจากหน่วยงานภาครัฐหรือสถาบันทางการเงิน หรือคู่ค้าทางธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้” ดร.สุทธิภัทร กล่าวทิ้งท้าย