ทีเส็บจับมือพันธมิตรส่งเสริมการจัดงานไมซ์ช่วยลดโลกร้อน

676

ทีเส็บจับมือองค์กรพันธมิตร ภายใต้โครงการคาร์บอนบาลานซ์ (Carbon Balance Scheme) ร่วมผลักดันการจัดงานอีเวนท์และการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สอดคล้องแนวคิด BCG Model ของรัฐบาล และนานาชาติสังคมโลก เผยตัวเลขการจัดกิจกรรมไมซ์ในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้กว่า 2,000 ตัน

            เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการคาร์บอนบาลานซ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเว้นท์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 8 องค์กรพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากภาวะโลกร้อน หน่วยงานพันธมิตรประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (ทีเส็บ) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)

            นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ความร่วมมือกันของ 8 องค์กรพันธมิตรครั้งนี้ แม้ว่าวัตถุประสงค์หลัก คือ การส่งเสริมให้มีการจัดงานอีเวนท์และการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ แต่อีกประการสำคัญ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ตามกลยุทธ์แนวทางสอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามแนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อันประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งทีเส็บให้ความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด โดยนำแนวทาง BCG Model มาต่อยอดผนวกกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) และสามารถเดินหน้าพัฒนายกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ร่วมกับทุกภาคส่วนต่อไป ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศในปี 2565

            ด้านบทบาทความร่วมมือของทีเส็บในโครงการนี้ จะมุ่งส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และนิทรรศการ แบบปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยรับผิดชอบกิจกรรมหลักในการต่อยอด ขยายผลการอบรมหลักสูตรที่จัดให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์และภาคการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งทีเส็บได้พัฒนาหลักสูตรขึ้นเพื่อช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการคำนวณและการชดเชยให้กับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังดำเนินการร่วมกับ อบก. พัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือในการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์จากการจัดงานให้ใช้งานได้สะดวกและเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

            พร้อมกันนี้ ทีเส็บเตรียมการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการจัดงานแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือแบบคาร์บอนต่ำครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้ประกอบการไมซ์ ภาคการศึกษา และสาธารณชนทั่วไป รวมถึงการสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไมซ์เห็นความสำคัญและนำเส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานไมซ์ด้วย

            ทีเส็บ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ได้ริเริ่มกิจกรรมการจัดประชุมสีเขียว (Green Meeting) ตั้งแต่ปี 2551 และยกระดับสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2556 ต่อมาในปี 2558 ได้พัฒนาแผนแม่บทเพื่อผลักดันประเทศไทยก้าวสู่จุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน โดยมีผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา คือ โครงการยกระดับองค์ความรู้เรื่องการจัดงานภายใต้ Carbon Neutral Event: สนับสนุนให้เกิดการคำนวณ และลดคาร์บอนจากการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ ทำให้ในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ที่ช่วยลดคาร์บอนได้มากกว่า 2,000 ตัน จากการคำนวณโดยใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตปรินท์ที่ทีเส็บพัฒนาร่วมกับ อบก. อีกทั้งในปี 2565 และในอนาคตทีเส็บก็ยังคงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ที่ช่วยลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง

            นอกจากนี้ ที่ผ่านมาในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ทีเส็บยังได้ดำเนินโครงการจัดการป้องกันขยะอาหาร (Food Waste Prevention) ที่สามารถช่วยผู้ประกอบการไมซ์ลดขยะอาหารได้กว่า 300,000 กิโลกรัม คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 37 ล้านบาท และช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินท์ได้มากกว่า 781 ตันอีกด้วย

            “ทีเส็บเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกันของ 8 องค์กรพันธมิตรครั้งนี้ จะเป็นการเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยวของประเทศไทย ให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุควิถีใหม่ในประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญ ช่วยสร้างโอกาสการแข่งขันของไทยในตลาดโลก และผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์เติบโตควบคู่ไปกับสังคมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย