DIP ปักหมุด 10 มหาวิทยาลัยไทยยกระดับงานวิจัยเข้าสู่ฐานข้อมูลโลก

720

การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Support Centers  หรือ TISC) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยยกระดับคุณภาพของงานวิจัย จากการใช้ระบบข้อมูลทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก สามารถยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ผลักดันงานวิจัยเพื่อสร้างเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนวัตกรรมด้วยทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการอนุญาตให้ใช้สิทธิผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีมูลค่าสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม  มุ่งเน้นการบูรณาการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เกิดระบบนิเวศน์ของนักคิด นักการตลาด และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ  ซึ่งปัจจุบันศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TISC) มีอยู่ 80 ประเทศทั่วโลก เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น เป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ของนักวิจัยและนักนวัตกรรมจาก 900 ศูนย์ 

            กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ DIP ได้ร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization หรือ WIPO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยในภูมิภาคต่างๆ ของไทย จัดตั้งศูนย์ TISC ขึ้นในหน่วยงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางและแหล่งข้อมูลของนักนวัตกรรมจากทั่วโลก สนับสนุนให้นักประดิษฐ์ นักวิจัย ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาได้เข้าถึงข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญา สถิติ และเทคโนโลยีด้านต่างๆ  อันจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนา และมีประสิทธิภาพต่อบุคลากรและหน่วยงาน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0

            ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Advisory Center หรือ IPAC)  ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งและเป็นสมาชิกเครือข่ายศูนย์ TISC Thailand เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมด้วยทรัพย์สินทางปัญญา กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ซึ่งจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของ กรมทรัพย์สินทางปัญญาในการเข้าถึงกลุ่มนักประดิษฐ์ นักวิจัย และผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยในเวทีโลก

            สำหรับ สถาบันการศึกษา ทั้ง 10 สถาบัน ซึ่งเดิมมีหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยบ่มเพาะทรัพย์สินทางปัญญา มีศักยภาพในการให้บริการในระดับต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อปรับมาเป็นศูนย์ TISC จะได้รับการสนับสนุนจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก  โดยเบื้องต้นมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ทำให้สถาบันการศึกษาสามารถยกระดับขยายบริการได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น เทียบเท่า TISCs ทั่วโลก ที่เปิดให้บริการ ณ ปัจจุบัน 10 บริการ อาทิ ระบบการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตร กว่า  200 ประเทศ  รวมถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา( DIP) ของไทย การบริการสืบค้นข้อมูลด้วยโปรแกรมใหม่ล่าสุด Inspire แบบ On-Demand Searches การให้คำปรึกษาและวางแผนการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระบบการประมวลเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสืบค้นข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น

            นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “สิทธิบัตรและทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ ถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดด้านนวัตกรรมโลก (Global Innovation) ที่จะวัดความสามารถของแต่ละประเทศในหลายๆ ด้าน จากรายงานขีดความสามารถด้านนวัตกรรม (the Global Innovation Index) ปี 2563 ซึ่งวัดสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศ พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่ในอันดับ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก ในปีที่ผ่านมามีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์จำนวน 36,108 ราย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการพัฒนานวัตกรรมจนถึงการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์”