โปรตีนทางเลือก..นวัตกรรมอาหารใหม่ในไทย 4.5 พันล้าน เติบโตแบบท้าทาย

763

หนึ่งใน Food Tech ที่กำลังอยู่ในกระแสบริโภคอย่างโปรตีนทางเลือก ถือว่าเติบโตโดดเด่นในช่วง   1-2 ปีที่ผ่านมา โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่ตื่นตัวกับการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อม แรงงานและสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงความกังวลต่อปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ที่ผู้บริโภคค่อนข้างกังวลต่อความปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อสัตว์ (ที่อาจพบการปนเปื้อน รวมถึงโรคต่างๆ ที่มาจากสัตว์) รวมถึงภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์ในระยะสั้นจากระบบการผลิตที่หยุดชะงัก ยังส่งผลให้โปรตีนทางเลือกมีโอกาสทำตลาดได้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยน่าจะเติบโตได้จากการเข้าถึงสินค้าที่ง่ายของผู้บริโภคผ่านหลากหลายช่องทางการจำหน่าย บวกกับความต้องการที่มาจากกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และกลุ่ม Flexitarian ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบางจากการระบาดของโควิดที่ยังรุนแรง ประกอบกับความหลากหลายของอาหารทั้งประเภทและราคาที่มีให้เลือกเยอะและอาจทดแทนกันได้ ก็น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2564 ตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่น่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 8% ต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยการขับเคลื่อนตลาดน่าจะมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า SMEs จากความได้เปรียบเรื่องศักยภาพในการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ซึ่งหาก SMEs จะแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ ซึ่งนอกจากเรื่องรสชาติ อาจจะต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องของวัตถุดิบ การตลาดและราคาที่สามารถแข่งขันได้

            นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอาจจะมองหาตลาดส่งออกซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาด และอาจจะมีโอกาสเติบโตได้เร็วกว่าตลาดในประเทศ เพราะด้วยพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงนิยมบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่ อีกทั้งยังมีทางเลือกหลากหลายในการบริโภค ดังนั้น การเติบโตของตลาดในประเทศคงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มาจากโปรตีนจากแมลง ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงเชิงพาณิชย์จากภาครัฐ เพื่อรับกับเทรนด์อาหารเพื่ออนาคต และสามารถเข้าไปทำตลาดได้บ้างแล้วในบางประเทศ เช่น เม็กซิโก รวมถึงสหภาพยุโรป เป็นต้น อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยเป็นสินค้านวัตกรรมอาหารใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาถึงกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าของคู่ค้าแต่ละประเทศอย่างรอบคอบ