473

สสว. จับมือ SME D Bank ปล่อยสินเชื่อ 1,200 ล้านช่วย “เอสเอ็มอี” กลุ่มท่องเที่ยว-ร้านอาหาร

            นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อํานวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทางการ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์ สปา ภัตตาคาร และร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและต่อเนื่อง สสว.จึงมอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นหน่วยร่วมดำเนินโครงการสนับสนุน SMEsรายย่อย อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง  ลงทุน ขยายกิจกรรม ปรับปรุง ซ่อมแซม  ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ  โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี  หลักประกัน กรณีบุคคลธรรมดา ใช้บุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน ส่วนกรณีนิติบุคคล ใช้กรรมการผู้มีอำนาจแทนนิติบุคคลค้ำประกัน สำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นกู้ในโครงการนี้   ต้องเป็นสมาชิก สสว. กรณียังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สสว. สามารถขอขึ้นทะเบียนก่อนได้ (http://members.sme.go.th/newportal/) โดยต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มรายย่อย (Micro) และขนาดย่อม (Small) ตามนิยามของ สสว.  อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์ และธุรกิจสปาที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮาส์   ใน 10 จังหวัด พื้นที่นำร่องเปิดการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.ภูเก็ต 2.กระบี่  3.พังงา 4.สุราษฎร์ธานี 5.เชียงใหม่ 6.ชลบุรี 7.เพชรบุรี  8.ประจวบคีรีขันธ์  9.บุรีรัมย์  และ 10.กรุงเทพมหานคร หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม รวมถึง กลุ่มธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ใน 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับล่าสุด ประกอบด้วย  1. กรุงเทพมหานคร  2. กาญจนบุรี 3.ชลบุรี  4.ฉะเชิงเทรา 5. ตาก  6. นครปฐม  7. นครนายก  8. นครราชสีมา  9. นราธิวาส  10.นนทบุรี  11.ปทุมธานี  12.ประจวบคีรีขันธ์  13.ปราจีนบุรี  14.พระนครศรีอยุธยา  15.เพชรบุรี  16.ปัตตานี  17.เพชรบูรณ์  18.ยะลา  19.ระยอง  20.ราชบุรี  21.ลพบุรี  22.สงขลา  23.สิงห์บุรี  24.สมุทรปราการ  25.สมุทรสงคราม  26.สมุทรสาคร  27.สระบุรี 28.สุพรรณบุรี และ 29.อ่างทอง  หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม อีกทั้งต้องไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเงินทุนในโครงการพลิกฟื้นฯ โครงการฟื้นฟูฯ หรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รวมถึง  ต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย    

“กรมพัฒน์ฯ จัดสัมมนาออนไลน์เชื่อมโยงเครือข่ายสมาคมการค้า

            นายทศพล  ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สมาคมการค้า มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์รวมของภาคธุรกิจรายสาขา และเป็นแกนหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมาชิก ปัจจุบันมีสมาคมการค้าจำนวน 2,978 สมาคม กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศและครอบคลุมทุกสาขาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดในการจัดสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “เชื่อมโยงเครือข่ายสมาคมการค้า นำธุรกิจฝ่าโควิด-19” ในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) การบรรยาย หัวข้อ “การพัฒนาหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ในยุคโควิด-19” โดยคุณธเนศ พิริย์โยธินกุล – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการค้าพัฒนาธุรกิจ และการลงทุนบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD  2) การเสวนา หัวข้อ “แนวคิด และการปรับกลยุทธ์ของสมาคมการค้าในยุคโควิด-19” จากผู้แทนสมาคมการค้าที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสมาคมการค้าดีเด่น ประจำปี 2563 คือ ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ นายกสมาคมการค้าบิสคลับไทย และคุณวรวุฒิ  กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน  และ3) กิจกรรม Design Thinking “แนวทางการพัฒนาสมาคมการค้า เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19” เพื่อระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจ ร่วมกันหาแนวทางการดำเนินธุรกิจและพัฒนาสมาคมการค้าให้อยู่รอดในยุคโควิด-19 โดยคุณกาลัญญู คงคติกำจร  คณะกรรมการ TAP SC (Trade Association President Club – Sub Committee) ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท The Kale Dot D จำกัด โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้และแนวทางการดำเนินงานให้สมาคมการค้า และภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ซึ่งคาดหวังให้เกิดการสร้าง เชื่อมโยง และขยายเครือข่ายสมาคมการค้าระหว่างธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งสมาคมการค้าจะได้มีแนวทางในการพัฒนาสมาชิกให้เข้มแข็งและมีความร่วมมือระหว่างสมาชิกมากขึ้น  ผ่านการสร้างแนวคิด ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในยุคโควิด-19  สมาคมการค้าจำเป็นต้องปรับตัว และไม่หยุดที่จะพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการนำไปบริหารจัดการธุรกิจของตนเองและสมาชิกให้สามารถนำพาธุรกิจฝ่าช่วงโควิด-19  ไปได้อย่างสง่างาม   จึงขอเชิญชวนสมาคมการค้าสมัครเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจุฑามาศ หมายเลขโทรศัพท์ 086-3726583 หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th”