เศรษฐศาสตร์ยุคดิจิทัลหอการค้าไทยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ยุค 5.0

1519
ศ.ดร.ภูมิฐาน รังคกูลนุวัฒน์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พลิกโฉมรูปแบบการเรียนการสอนและหลักสูตร มุ่งเตรียมพร้อมทักษะที่จำเป็นของบัณฑิตเพื่อเข้าสู่ยุคการการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 การเรียนการสอนจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในด้านธุรกิจ บัณฑิตที่จบไปจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทักษะด้านธุรกิจ

ศ.ดร.ภูมิฐาน รังคกูลนุวัฒน์ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “จำนวนนักเรียนที่เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ด้านวิชาการมากกว่าวิชาชีพ ทำให้ผู้เรียนคิดว่าศาสตร์นี้ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้างในยุคเศรษฐกิจ new normal ซึ่งแท้จริงแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้ผู้เรียนมีการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในทางธุรกิจ การเงิน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันขณะนี้ที่เศรษฐกิจและธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสาร American Economic Review ในปี 2017 เกี่ยวกับแนวโน้มการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าสัดส่วนของคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาค่อนข้างคงที่ แต่สัดส่วนคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาเอกที่สองกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการเรียนควบคู่ไปกับสาขาวิชาเอกอื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ เป็นต้น นี่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์สาขาวิชาอื่นให้ความสำคัญ เนื่องจากจะช่วยเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจซึ่งจำเป็นต้องใช้เมื่อจบไปทำงานนั่นเอง   ยิ่งไปกว่านั้น การเกิดวิกฤติจากไวรัสโควิด 19 ทำให้โลกของธุรกิจและเศรษฐกิจยิ่งมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นไปอีก คนที่ต้องทำงานต่อไปในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ต้องเตรียมความพร้อมทักษะต่าง ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้

ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับทักษะแรงงานที่จำเป็นต้องมีในปี 2025 ตามที่สภาเศรษฐกิจโลกได้มีการเสนอในปลายปีที่แล้ว และมีการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ภาคพิเศษ (เรียนศุกร์เย็น และเสาร์เต็มวัน) เพิ่มเติมจากภาคปกติ (เรียนจันทร์ – ศุกร์)  เพื่อรองรับกลุ่มผู้ทำงานจากทุกสายอาชีพที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาอีก 3-4 ปีข้างหน้านี้ โดยทั้งสองกลุ่มสามารถเทียบโอนหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยอื่นหรือหน่วยกิตจากการเรียนในระดับปวส. และยังสามารถเทียบโอนประสบการณ์ทำงานได้อีกด้วย

คณาจารย์ผู้สอน เป็นผู้มีความรู้ด้านวิชาการและทักษะการทำงานด้านธุรกิจ ประกอบด้วย อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักธุรกิจชั้นนำระดับประเทศและระดับนานาชาติภายใต้การสนับสนุนของสภาหอการค้าไทย”
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าว ทิ้งท้าย