คปภ. “อนุมัติแบบฟาสแทร็ก” กรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19

845

คปภ. “อนุมัติแบบฟาสแทร็ก” กรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 รองรับความเสี่ยงให้กับประชาชน หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้ส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมกับความเสี่ยงต่าง ๆ และประชาชนให้ความสนใจ      ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 มียอดซื้อทะลุกว่า 10 ล้านฉบับ และมียอดจ่ายสินไหมทดแทนแล้วกว่า 131 ล้านบาท

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากการที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรกมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และจะมีการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากเกิดการแพ้วัคซีนขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงได้ส่งเสริมให้มีการนำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงกรณีเกิดการแพ้วัคซีนดังกล่าว โดยนายทะเบียนประกันภัยได้เห็นชอบแบบ ข้อความและอัตราเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัย กรณีได้รับผลกระทบในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทประกันวินาศภัยไปแล้ว จำนวน 6 บริษัท ด้วยการพิจารณาคำขอแบบฟาสแทร็ก ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันภัยและความคุ้มครอง  ที่เลือกซื้อ โดยมีเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 70 -1,000 บาทต่อปี และหลายบริษัทมีส่วนลดให้ลูกค้าซึ่งได้ทำประกันภัยโควิด-19 ไว้แล้ว  มาซื้อประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทประกันภัยเดิมด้วย

สำหรับความคุ้มครองของประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถแบ่งออกเป็น 5 แบบความคุ้มครองหลักๆ ดังนี้

ความคุ้มครองแบบที่ 1 : ผลประโยชน์การเจ็บป่วยด้วยภาวะหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากผู้เอาประกันภัยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบจากการแพ้วัคซีนดังกล่าวและทำให้ผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยระยะสุดท้าย และ/หรือภาวะโคม่า และ/หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้ระบุไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 2 : ผลประโยชน์การรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน หลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากผู้เอาประกันภัยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบจากการแพ้วัคซีนดังกล่าวและต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาล บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาล และค่าการพยาบาล  ให้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง ทั้งนี้ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 3 : ผลประโยชน์เงินชดเชยปลอบขวัญสำหรับผู้ป่วยใน หลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากผู้เอาประกันภัยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบจากการแพ้วัคซีนดังกล่าวและต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลติดต่อกันตามจำนวนวันที่กำหนด บริษัทประกันภัยจะจ่ายชดเชยเงินปลอบขวัญตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 4 : ผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันจากการเป็นผู้ป่วยใน หลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนภายในระยะเวลาที่กำหนด และเป็นเหตุให้ต้องได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล บริษัทประกันภัยจะจ่ายผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันให้ตามจำนวนเงินต่อวันที่เข้ารับการรักษา แต่ไม่เกินวันที่ระบุไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 5 : ผลประโยชน์การแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าแพ้วัคซีนโควิด-19 บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าทดแทนตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้ระบุไว้และความคุ้มครองตามข้อตกลงคุ้มครองนี้จะสิ้นสุดลงทันที

“แม้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นวิธีการยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ประชาชนหลายคนก็ยังมีความกังวลกรณีเกิดการแพ้วัคซีนแล้วอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามมา ดังนั้นการทำประกันภัย จึงเป็น “การโอนความเสี่ยง” ไปให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัยการทำประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงเป็นมาตรการที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวได้อย่างดี ซึ่งหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย