12 ธุรกิจที่น่าจับตามองปี 2564

905
วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ เปิด 12 ธุรกิจที่น่าจับตามองปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตยุค New Normal และ Next Normal : อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขอนามัย และธุรกิจเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน… มูลค่าตลาดรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท แนะ!!! ผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนทำธุรกิจ นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง…การลงทุนมีความเสี่ยง ยุคนี้…ทำธุรกิจต้องรอบคอบให้มากที่สุด

            นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้งในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวจากการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคฯ ประกอบกับประชาชนมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตหลายด้านทำให้การใช้จ่ายเกิดการชะลอตัว และมีความระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศโดยรวม ทำให้ธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจและขยายการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งในปี 2563 ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่างหันมาประกอบธุรกิจที่สอดรับกับการใช้ชีวิตยุค New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ธุรกิจทางการแพทย์ และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ”

            “สำหรับปี 2564 การดำเนินชีวิตของผู้คนและการประกอบธุรกิจได้ก้าวไปอีกขั้นจากวิถีปกติใหม่ (New Normal) เป็นวิถีปกติถัดไป (Next Normal) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองในปี 2564 จำนวน 12 ธุรกิจ โดยได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลทางธุรกิจของกรมฯ ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลการประกอบธุรกิจ และข้อมูลปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรมฯ ร่วมกับความสอดคล้องจากข้อมูลและผลการศึกษาจากหน่วยงานวิจัยด้านธุรกิจอื่นๆ เช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฯลฯ เป็นต้น”

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “12 ธุรกิจดาวเด่นที่น่าสนใจในปี 2564 ประกอบด้วย

1) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)

2) ธุรกิจแพลตฟอร์ม สำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์

3) ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline)

4) ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)

5) ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์

6) ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

7) ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม

8) ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์

9) ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์

10) ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application

11) ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment

12) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ

โดยทั้ง 12 ธุรกิจ สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มธุรกิจได้ ดังนี้

1) กลุ่มธุรกิจด้านการค้าและการตลาดออนไลน์ ได้แก่ ‘ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)’ ‘ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์’ และ ‘ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และออฟไลน์ (Offline)’ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ มีการเติบโตที่สอดคล้องและเกื้อหนุนกันกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบันที่มีการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากช่วงก่อนหน้านี้และช่วงที่เกิดมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 310 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละ 798 ราย ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสและความท้าทายให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ เข้ามาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น

2) กลุ่มธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ เช่น ‘ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)’ ‘ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ (Logistic)’ และ ‘ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)’ โดยเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมการบริโภคในการซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจด้านการค้าและการตลาดออนไลน์ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) มีรายได้ตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 57 และธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ (Logistic) มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 116 เป็นต้น

3) กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ สุขอนามัย และการแพทย์ ได้แก่ ‘ธุรกิจบริการทางแพทย์และความงาม’ ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์’ เป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมของคนในสังคมที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้งความระแวดระวังจากการแพร่ระบาดของโรคฯที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 68 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 114 ราย ในปี 2563 และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 945 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 1,158 ราย ในปี 2563 เป็นต้น

4) กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานในในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ‘ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application’ ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ตอบสนองต่อการบริโภคของคนในสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกและพัฒนาการให้บริการต่างๆ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากปี 2561 ถึงร้อยละ 324 และ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 94 เป็นต้น 

“ธุรกิจดาวเด่น 12 ธุรกิจ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น 65,738 ราย

ทุนจดทะเบียนรวม 812,213.46 ล้านบาท แบ่งเป็น * ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) จำนวน 2,487 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 29,243.10 ล้านบาท * ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์ จำนวน 739 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,259.39 ล้านบาท * ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline) จำนวน 9,877 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 47,323.49 ล้านบาท * ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) จำนวน 797 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 3,651.61 ล้านบาท * ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ จำนวน 28,346 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 362,115.54 ล้านบาท * ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) จำนวน 1,846 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 51,502.69 ล้านบาท * ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม จำนวน 4,380 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 25,510.57 ล้านบาท * ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ จำนวน 809 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 11,308.12 ล้านบาท * ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ จำนวน 10,001 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,628.46 ล้านบาท * ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application จำนวน 5,891 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 189,387.10 ล้านบาท * ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment จำนวน 113 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,344.62 ล้านบาท และ * ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ จำนวน 452 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,938.77 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 นี้ การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและเห็นภาพ                     ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งขอแนะนำว่า ผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ และกำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่ง 12 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจต้องมีรอบคอบให้มากที่สุด” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย