คปภ. ขานรับนโยบายภาครัฐ นำประกันภัยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่

871

ขยาย 16 มาตรการด้านประกันภัย ถอดบทเรียนผลกระทบภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อเตรียมคลอด New Business Model และ New Regulatory Model พร้อมเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นับแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกภาคส่วนในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว และเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการในการดูแลช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนด้านประกันภัย และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-2019) อย่างต่อเนื่องไปแล้วนั้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังไม่คลี่คลายและมีการระบาดระลอกใหม่ ในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยในสวัสดิการและสุขภาพของประชาชนและผู้เอาประกันภัย รวมถึงผลกระทบของบริษัทประกันภัย และตัวแทนนายหน้าประกันภัยเป็นอย่างมาก จึงได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้านประกันภัย ทั้งในส่วนของผู้เอาประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และคนกลางประกันภัย รวมถึงผลกระทบด้านลูกหนี้ ค่าเสียหายเบื้องต้นกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย รวม 16 มาตรการ ดังนี้

มาตรการด้านการประกันชีวิต (4 มาตรการ)  :

มาตรการที่ 1 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย ในกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันเดิม

มาตรการที่ 2 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตยกเว้นดอกเบี้ยกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นผลบังคับ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันชีวิต ภายใน 6 เดือน    

มาตรการที่ 3 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตผ่อนผันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ หรือมีการกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทอาจยกเว้นหรือปรับลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

มาตรการที่ 4 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตพิจารณาผ่อนผันให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยในแต่ละงวด โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในกรณีผู้เอาประกันภัยมีการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัยใด ๆ ก็ตาม หรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยรายงวดที่น้อยกว่า 1 ปี โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัยในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

มาตรการด้านการประกันวินาศภัย (6 มาตรการ) :

มาตรการที่ 1 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันสุขภาพ หรือกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองเดียวกัน กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง กรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย และกรมธรรม์ประกันภัยเบ็ดเตล็ด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยให้ขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบระยะเวลาผ่อนผันเดิม

มาตรการที่ 2 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยผ่อนผันเงื่อนไขการชำระเบี้ยประกันภัย โดยให้ผู้เอาประกันภัยสามารถชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายงวดได้ สำหรับการประกันภัยอัคคีภัย และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่กำหนดไว้ในรายงานสถิติธุรกิจ ประกันวินาศภัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่มีการทำสัญญาหรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยตามสัญญาในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

มาตรการที่ 3 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยเพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง กรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่กำหนดไว้ในรายงานสถิติธุรกิจประกันวินาศภัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งบริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนหรือได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนคำสั่งมีผลบังคับใช้      ให้ถือเสมือนว่ามีข้อความว่า “ในกรณีที่ความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บริษัทประกันภัยอาจพิจารณายกเลิกความคุ้มครองบางส่วน ลดจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือเปลี่ยนแปลงแผนการประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ตามการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้เอาประกันภัยแต่ละราย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัท ซึ่งไม่กระทบกับแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยตามส่วนที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้แก่ผู้เอาประกันภัย” ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

มาตรการที่ 4 ออกสั่งให้บริษัทสามารถขยายระยะเวลาเอาประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ทุกประเภทที่ยังมีผลคุ้มครองได้ตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน โดยไม่เรียกเก็บเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม

มาตรการที่ 5 ออกคำสั่งให้ผู้เอาประกันภัยและบริษัทอาจตกลงลดหรือเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งหมดหรือบางส่วน ตามการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การใช้รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายได้ โดยให้เป็นไปตามแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราเบี้ยประกันภัย ที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบไว้แล้ว โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยตามส่วนที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้แก่ผู้เอาประกันภัย

มาตรการที่ 6 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยอาจระงับความคุ้มครองชั่วคราวตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้แจ้งความประสงค์ขอระงับความคุ้มครองชั่วคราวตามเหตุจำเป็นต้องหยุดประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และเปลี่ยนแปลงวันสิ้นสุดความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยขยายออกไปตามระยะเวลาที่มีการระงับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยไม่เรียกเก็บเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม

มาตรการด้านคนกลางประกันภัย (3 มาตรการ) :

มาตรการที่ 1 ออกประกาศให้หน่วยงานจัดอบรมซึ่งเคยได้รับความเห็นชอบการจัดอบรมหลักสูตรขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต หรือตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย ผ่านสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) แล้ว ตามประกาศที่สิ้นผลไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 สามารถขอจัดอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยผู้เข้ารับการอบรมต้องเป็นผู้ที่สอบผ่านหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิต หรือการประกันวินาศภัยมาแล้ว

มาตรการที่ 2 ออกประกาศขยายระยะเวลาให้หน่วยงานจัดอบรมซึ่งเคยได้รับความเห็นชอบการจัดอบรมหลักสูตรขอต่ออายุใบอนุญาต เป็นตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต หรือตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย ผ่านสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning)  ออกไปจากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564

มาตรการที่ 3 ออกประกาศให้ผู้ประสงค์ขอรับและขอต่อใบอายุเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัย สามารถยื่นขอรับและขอต่อใบอนุญาตผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับลูกหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้นกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย (3 มาตรการ) :

มาตรการที่ 1 ออกระเบียบให้พักการผ่อนชำระหนี้โดยอัตโนมัติสำหรับลูกหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้นที่ได้ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้นกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยไว้แล้ว โดยให้พักการผ่อนชำระหนี้โดยอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และให้กลับมาผ่อนชำระหนี้ตามงวดและจำนวนเงินในสัญญาผ่อนชำระอีกครั้ง นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยไม่ถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ผ่อนชำระหนี้ในระหว่างระยะเวลาที่พักชำระหนี้นั้น ทั้งนี้ ไม่ให้นำเงื่อนไขระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ซึ่งกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 2 ปี มาใช้บังคับ

มาตรการที่ 2 ออกระเบียบให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในงวดแรกออกไป 6 เดือน สำหรับลูกหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้นที่มีความประสงค์ขอผ่อนชำระหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้น นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยวิธีการยื่นขอผ่อนชำระหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้น ให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขอรับและผ่อนชำระหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้นกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย

มาตรการที่ 3 ออกประกาศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสงค์ขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นหรือขอผ่อนชำระหนี้ค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โดยสามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องจากเว็บไซต์ของสำนักงานและยื่นผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้

ทั้งนี้ มาตรการที่กล่าวไปแล้วข้างต้นรวม 16 มาตรการ นอกจากนี้ เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำโครงการศึกษาผลกระทบธุรกิจประกันภัยไทยจากสถานการณ์แพร่ระบาดฯ และศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจประกันภัยที่เหมาะสมตลอดจนแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในยุค New Normal เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 อย่างมีประสิทธิภาพ

“สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขยายมาตรการด้านประกันภัยในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนออกไปอีก แม้เป็นมาตรการระยะสั้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนให้เกิดความยืดหยุ่นเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะติดตามสถานการณ์และความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย