LIVERPOOL หนังสือดีที่ต้องอ่าน By ECONMAN

1115

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน ซึ่งนอกจากจะเป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์หมีคั่วโลก ที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกด้วย

หลายคนคิดว่าหนังสือเล่มนี้คงเหมาะกับแฟนๆของ “หงส์แดง”

แต่พออ่านบทนำต้องบอกว่า..ผิดคาด

เขาว่าด้วยเรื่อง “ความผูกพันในองค์กร”

ดร.จักรกฤษณ์สะท้อนวัฒนธรรมและความเปลี่ยนแปลงของสโมรลิเวอร์พูลว่าเกิดขึ้นในวันที่ปรมาจารย์ Bill Shankly ย่างเท้าเข้ามาใน Anfield

โดยใช้ “ห้องเก็บสตั๊ด” เล็กๆใต้อัฒจันทร์เป็น “ห้องวางแผน”

ทั้งที่ลิเวอร์พูลในเวลานั้นมีห้องหับกว้างขวางให้เลือกมากมาย

เจาะจงใช้ “โต๊ะกลม” เป็นโต๊ะประชุม

เพราะ “โต๊ะกลม” ไม่มีด้านหัว หรือ ด้านท้าย

กลายเป็นวัฒนธรรม “หลอมรวม-ผูกพัน-ส่งต่อ” มาจนถึงวันนี้

นี่แค่เพียงบทนำ

จึงกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนเพื่อแฟนๆของลิเวอร์พูลเท่านั้น

และไม่ใช่แค่แฟนฟุตบอล

แต่ทุกคนสามารถนำ “ข้อคิด” ในหนังสือเล่มนี้ไปปรับใช้ได้

โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องในวงการฟุตบอล

ทั้งลีกอาชีพ-สมัครเล่น

ในอดีตการเล่นฟุตบอลอาจเป็นเพียงกีฬาชนิดหนึ่ง

แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งมีประชากรติดตามการแข่งขันจำนวนมาก

เช่นการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 ณ ประเทศแอฟริกาใต้ มีประชากรผู้ชมทั่วโลก 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก

มากกว่าจำนวนประชากรที่ติดตามชมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีการบรรจุประเภทและชนิดของการแข่งขันกีฬาไว้ถึง 28 ชนิด

เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลในพื้นที่ใด ก็ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสินค้าของที่ระลึก เสื้อผ้า การใช้บริการสาธารณะ อุปกรณ์ประกอบการเชียร์ อาหาร เครื่องดื่ม ขนม ฯลฯ ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ขณะที่ในเมืองไทยความนิยมฟุตบอลลีกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ ปี

มีสโมสรฟุตบอลอาชีพเข้าร่วมทั้ง 3 ลีกมากถึง 110 ทีม

มีผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโดยตรงไม่น้อยกว่า 10,000 คน

ประชากรที่เกี่ยวข้องทางอ้อมเป็นจำนวนหลายแสนคน

การลงทุนรวมทุกสโมสรมากกว่า 3,000 ล้านบาท

ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก 

กระแสความนิยมนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังสถิติผู้ชมไทยพรีเมียร์ลีกปี 2552 ทั้งฤดูกาลประมาณ 984,000 คน

เพิ่มเป็น 1,911,277 คนในปี 2557

รายได้จากการขายบัตรเข้าชมเกมของทุกสโมสรรวมกันในปี 2552 ประมาณ 50 ล้านบาท

เพิ่มเป็น 164 ล้านบาทในปี 2557

เมื่อรวมค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ค่าบริหารจัดการสโมสร ค่ากิจกรรมทางการตลาด ค่าใช้จ่ายของแฟนบอล มูลค่าเงินหมุนเวียนในระบบจึงสูงนับหมื่นล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทยใช้ชื่อว่า ‘ไทยลีก’ จากเดิมใช้ว่าไทย​พรีเมียร์​ลีก

แบ่งเป็นไทยลีก จำนวน  16 ทีม

ไทยลีก 2 จำนวน 18 ทีม

ไทยเนชันนัลลีก 76 ทีม

นอกจากนี้ยังมีไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก (สมัครเล่น) ไม่จำกัดทีม กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ลองคำนวณอย่างง่ายๆเฉพาะค่าใช้จ่ายของแฟนบอลในการแข่งขันไทยลีก (ไม่รวมลีกอื่นๆ) ในแต่ละสัปดาห์มีการแข่งขันไทยลีก 9 สนาม

บางสนามเต็มความจุ 25,000 คน

บางสนาม 10,000 คน

บางสนาม 5,000 คน

ถ้าคิดเป็นค่าเฉลี่ยสนามละ 6,000 คน  รวม 9 สนาม 54,000 คน

ทุกคนที่เดินทางไปชมฟุตบอลมีค่าใช้จ่ายมากน้อยต่างกันไป เช่น ค่าน้ำมัน ค่าบัตรผ่านประตู ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าพาหนะ ฯลฯ

ถ้ามีแฟนฟุตบอลต่างถิ่นตามไปเชียร์ทีมของตัวเอง ก็ต้องหาซื้อสินค้าของฝากจากท้องถิ่นนั้นๆติดมือกลับบ้านด้วย หรืออาจหาที่พักและท่องเที่ยวไปในตัว

บางคนใช้เงิน 5,000 บาท

บางคน 2,000 บาท

บางคน 1,000 บาท

บางคน 500 บาท

บางคน 200 บาท

สมมุติเฉลี่ย 500 บาทต่อคน ก็เท่ากับ 500 x 54,000

แสดงว่ามีเงินหมุนเวียนในแต่ละสัปดาห์ 27 ล้านบาท

ถ้าจัดการแข่งขัน 4 ครั้งต่อเดือนจะมีเงินหมุนเวียนเดือนละ 108 ล้านบาท หรือปีละ 1,296 ล้านบาท

นี่คิดแบบพื้นฐานขั้นต่ำที่สุด และยังไม่รวมการแข่งขันในกลุ่มลีก 2 ไทยเนชันนัลลีกและไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีกที่มีแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองไปในกลุ่มสโมสรฟุตบอลก็มีค่าใช้จ่ายในด้านเม็ดเงินที่สะพัดหลายส่วน

ทั้งค่าซื้อขายนักเตะ ค่าสอปนเซอร์ ค่าการตลาด ค่าแบรนด์รอยัลตี้ ฯลฯ นำไปสู่การต่อยอดด้านการขายสินค้าที่ระลึก หรือกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการกีฬา

ว่ากันว่าเกือบทุกสโมสรในไทยลีกใช้เงินบริหารมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

ฟุตบอลจึงไม่ไม่แค่ลูกหนังกลมๆที่เตะกันในสนามสี่เหลี่ยมเท่านั้น

หากคือฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy ที่น่าจับตา

อย่างไรก็ตาม

ถ้าอยากสร้างสโมสรฟุตบอลให้ยิ่งใหญ่

อย่างแรกที่ต้องทำคือ

อ่านหนังสือเล่มนี้