สสว.เร่งยกระดับมาตรฐานเพิ่มมูลค่าสินค้าSME มุ่งเจาะตลาดจีน

819

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า “โอกาสและตลาดของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ถือเป็นเป้าหมายในการขยายตลาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาอย่างต่อเนื่อง สสว. หน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้เล็งเห็นว่าการมุ่งเน้นพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและการปรับปรุงในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและความต้องการของตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการระดับฐานรากและผู้ประกอบการในพื้นที่ ระดับชุมชน ระดับการค้า ให้แข่งขันได้ในระดับสากล และสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีสมาชิกในระดับฐานราก อาทิ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ซึ่งมีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานเป้าหมายหลักเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศโดยมีการผลิตและขายสินค้ากันระหว่างสมาชิกในการสร้างตลาด และสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาสมาชิกกองทุนซึ่งกันและกัน ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถจัดกิจกรรมที่เป็นองค์ความรู้รวม มีกระบวนการเรียนรู้ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทั้งภายในและภายนอกชุมชน และต่อยอดพัฒนาไปยังชุมชนและสังคมที่กว้างขึ้น รวมทั้งยังได้บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (หรือเซ็นทรัลแล็บ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ สสว. ถือหุ้นร่วมกับกระทรวงการคลัง มาช่วยตรวจรับรองมาตรฐาน สร้างการยอมรับในระดับสากล ตลอดจนหน่วยงานภายนอก อย่าง บริษัท ซีซีไอซี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็น บริษัท ตรวจสอบร่วมทุนไทย-จีนที่ก่อตั้งในประเทศไทยโดย China Import and Export Commodity Inspection Corporation เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรมยาสินค้ามาตรฐาน เช่น มันเส้นและข้าวหอมเพื่อการส่งออก

กิจกรรมในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาดเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยมุ่งหวังว่าการดำเนินการในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาสร้างเสริมการยกระดับผู้ประกอบการ สร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพในด้านมาตรฐานสินค้าและขยายตลาดสู่ชุมชนตลาดสากลต่อไปในอนาคต ตลอดจนสามารถส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ยกระดับเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจในขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง”

         ทั้งนี้การดำเนินงาน ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาดเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ SME ในส่วนของการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวให้กับ SME นี้ ได้จัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง ในพื้นที่ 3 ภูมิภาคหลักที่เป็นแหล่งปลูกข้าว คือ ภาคกลาง ที่ จังหวัดนครนายก ภาคเหนือ ที่จังหวัดสุโขทัย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งในแต่ละภูมิภาค ได้มีการรวมตัวผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในระดับฐานราก โดย สสว. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและการค้าระหว่างผู้แทนการค้าในประเทศไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือกองทุนหมู่บ้านต่าง ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงผลิตผลจากภาคการเกษตรของไทยออกสู่ตลาดจีน โดยนำร่องในกลุ่มสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าว ผักผลไม้ ก่อนขยายสู่สินค้าการเกษตรทุกชนิด คาดว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นโมเดลขยายผลไปทั่วทุกภาคของไทยในอนาคตและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท และช่วยยกระดับมาตรฐานทางการเกษตรให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1,100 ราย

           สำหรับกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ SME ภาคการค้ากับผู้ประกอบการต่างประเทศ (จีน) แบบคู่ขนาน ที่จัดขึ้นในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมต่อยอดสำคัญของโครงการฯ        โดยกิจกรรมจัดขึ้นแบบคู่ขนานพร้อมกันทั้งในประเทศไทยและจีน ถ่ายทอดสดการเจรจาการค้าแบบ Real Time Virtual Conference ทั้งการเจรจาธุรกิจ B2B และ B2C ในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ กิจกรรม B2B จะมีผู้ค้ารายใหญ่จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ราย พิจารณาและมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทย ไปยังประเทศจีน พร้อมกับการจัดกิจกรรม B2C จะมีผู้ประกอบการ และ/หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์นำเสนอการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในประเทศจีน จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 ราย ให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์

           นอกเหนือจากกิจกรรมในครั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาดเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ SME จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ อันจะส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยที่เล็งเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านช่องทางการตลาด การเงิน และการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับธุรกิจ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับบริการและผลการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต