คปภ. เร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้านประกันภัยให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี รับมือ “ภัยธรรมชาติ ภัยศัตรูพืช และภัยจากโรคระบาด” เป็นจังหวัดที่ 2 ตามโครงการ “Training for the Trainers ประจำปี 2563”
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการคปภ.) มอบหมายให้นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฏหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมด้วยคณะวิทยากรด้านประกันภัย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตามโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 45.7 ล้านไร่ ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 2,910.39 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูการผลิต 2563 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 ล้านไร่ วงเงินให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 313.98 ล้านบาท
นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฏหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (รองเลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เพื่อพบปะเกษตรกรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี นับเป็นครั้งที่ 2 ของโครงการฯ ในปีนี้ ซึ่งจัด 5 ครั้ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ตาก กาฬสินธุ์ และ พัทลุง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเกษตรกรรมของจังหวัดราชบุรี พบว่าในปีที่ผ่านมาจังหวัดราชบุรีมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 212,394 ไร่ มีการทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 66,388 ไร่ คิดเป็น 31.26% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอัตราการทำประกันภัยทั้งประเทศอยู่ที่ 49.79% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศ ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 57,086,460 ไร่ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงเลือกจังหวัดราชบุรีในการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยคาดหวังว่าในปี 2563 จังหวัดราชบุรีจะมีการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น (วันที่ 15 มิถุนายน 2563) ตนและคณะวิทยากร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะเกษตรกร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนปัญหา เช่น กรณีเช่าที่ดินทำกินสามารถทำประกันภัยได้หรือไม่ กรณีที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิสามารถทำประกันภัยได้หรือไม่ และกรณีการทำประกันภัยพืชชนิดอื่นๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม สับปะรด มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้คณะวิทยากรได้ตอบข้อสงสัยต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งจะนำข้อมูล ตลอดจนเสียงสะท้อนที่ได้จากเกษตรกรนำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆไป รวมถึงแนวทางการประกันภัยพืชผลชนิดอื่นๆด้วย
สำหรับ (วันที่ 16 มิถุนายน 2563) เป็นการเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 ณ โรงแรม ณ เวลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยมีนายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้การต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่ 2 ของปีนี้ เพื่อจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัยให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ อันจะช่วยนำพาอุตสาหกรรมภาคเกษตรกรรมของจังหวัดมีความเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
รองเลขาธิการคปภ. กล่าวด้วยว่า การประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้มีความพิเศษที่รูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. อัตราเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในส่วนความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 97 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนอีก 39 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรในกลุ่มนี้จะได้รับประกันภัยฟรี ส่วนเกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม จะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จ่ายเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเกษตรกรในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีเขียว) ได้รับประกันภัยฟรี ส่วนพื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง 152 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง (พื้นที่สีแดง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง 172 บาทต่อไร่
โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีจะให้ความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า รวมถึงความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
สำหรับการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ได้กำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2562 โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยแบบอัตราเดียวอยู่ที่ 160 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกัน 64 บาทต่อไร่ ดังนั้น ลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะได้รับประกันภัยฟรี ส่วนเกษตรกรทั่วไปหรือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม เบี้ยประกันภัย 160 บาทต่อไร่ รัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเอง 64 บาทต่อไร่ และเกษตรกรสามารถซื้อความคุ้มครองส่วนเพิ่มโดยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งในปีนี้มีการแบ่งพื้นที่เป็นรายอำเภอเช่นเดียวกับการประกันภัยข้าวนาปี โดยพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (สีเขียว) เบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) เบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง (สีแดง) เบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติ และจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด เช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี
“สำนักงาน คปภ. จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ทำประกันภัยข้าวนาปีเพื่อนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืชและโรคระบาด ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถทำประกันภัยฤดูแล้ง ได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 และหากต้องการข้อมูลความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ แอพพลิเคชั่น “กูรูประกันข้าว” หรือ สายด่วน คปภ. 1186” รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย