จากภาวะวิกฤตไวรัสโคโลน่าโควิด – 19 ระบาดไปทั่วโลกอย่างหนัก ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะธุรกิจอสังริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจการศึกษาที่ต้องปรับตัวให้เรียนกันที่บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจด้านร้านอาหารก็ต้องปรับตัวสู่บริการสั่งซื้อรูปแบบออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวก เช่น เกษตรกรรม ที่มียอดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนยังต้องการอุปโภคบริโภคสินค้าเกษตรกรรมอยู่เสมอ รวมทั้งการเก็บสำรองไว้ใช้ในยามภาวะฉุกเฉินหรือการขยายประกาศพระราชกำหนดให้ประชาชนอยู่ภายในบ้านออกไปอีก
ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า “วิกฤตโรคระบาดของไวรัสครั้งนี้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีหลังจากวิกฤตครั้งนี้จะเป็นธุรกิจการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอาหารพร้อมรับประทาน ไปยังต่างประเทศ เป็นธุรกิจที่ยังได้เปรียบสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการผลิตและวัตถุดิบทรัพยากรที่มีคุณภาพ ส่วนภายในประเทศจะเป็นการขนส่งธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับกลุ่มลูกค้าที่ทำงานภายในบ้าน ธุรกิจอาหารเองที่สามารถบริการส่งถึงบ้านได้จะเป็นการตอบโจทย์ต่อไปในอนาคตที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมาก อยากให้นักธุรกิจปรับตัวด้านการหาลูกค้าและการใช้นวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น จากหลายประเทศที่ในช่วงวิกฤตพบว่าเศรษฐกิจยังเติบโตค่อนข้างช้า กลุ่มลูกค้ายังมีความเสี่ยงต่อการใช้เงิน ไม่กล้าที่จะใช้เงินหรือลงทุนอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นภาคธุรกิจเองจะต้องปรับตัว เพื่อให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ดังกล่าว โดยจะต้องปรับตัวในเรื่องของหาช่องทางที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์และการรวมกลุ่มกันเป็นพันธมิตร (Alliance) ในการทำธุรกิจเพื่อที่จะเสริมจุดแข็งและลบจุดด้อยให้กับองค์กร หรืออาจปรับลดหน่วยงานบางส่วนภายในองค์กรลง โดยการจ้างที่ปรึกษาภายนอก เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับธุรกิจต่อไปในอนาคต”
“ในธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีจะต้องมุ่งปรับตัวในเรื่องของการแข่งขัน เนื่องจากว่าธุรกิจได้รับผลกระทบจากไวรัส – 19 ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการเองจะต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งมีแนวโน้มต่อเนื่องอีกหลายเดือน จากตัวอย่างประเทศจีนหรือไต้หวัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยมากนัก ทำให้ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวเอง ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองกับผู้บริโภคที่ทำงานภายในบ้านหรือกับลูกค้าที่มีกิจวัตรประจำที่ทำภายในบ้านหรืออาคารเพิ่มมากขึ้น ในธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีเงินทุนสำรองในปัจจุบัน อาจจะเข้าไปขอความช่วยเหลือกับสถาบันทางการเงินต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีมาตรการช่วยเหลือทั้งของหน่วยงานธนาคารภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนกับสินเชื่อรายย่อย เพื่อจะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการเติบโตต่อไปได้ วิกฤตครั้งนี้เป็นบทเรียนที่จะต้องให้มาทบทวนในเรื่องของการเตรียมตัวและการปรับองค์กรของตัวเองให้มีความยืดหยุ่น (flexible) มากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องมีการเตรียมตัวในเรื่องของแหล่งเงินทุนและทุนสำรองให้กับธุรกิจต่อไปในอนาคต ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรภายในองค์กรเองให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค มีการศึกษาและทบทวนความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา พร้อมทั้งปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงโดยพึ่งพาเทคโนโลยีหรือการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต”