บอร์ด สสว. ไฟเขียว อัดฉีดงบ 10,665 ล้านบาท เฟ้นมาตรการช่วย SME

823

ผู้ประกอบการเตรียมเฮ บอร์ดสสว. อัดฉีดงบ 10,665 ล้านบาท ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ สนับสนุน SME รายย่อยผ่านกองทุน สสว. 5,000 ล้าน อุดหนุนผ่านโครงการ บสย. สร้างไทย 5,000 ล้าน โครงการ FX Option 450 ล้าน และมาตรการ MSME 2020 วงเงิน 215 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน SME ทุกมิติ ทั้งปรับปรุง ซ่อมแซม ขยายกิจการ และเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น คาดจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนในระบบ รวมทั้งเกิดการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ

          วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2563) ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมอนุมัติและเห็นชอบในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็ง เพื่อช่วยเหลือ SME ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 2562-2563 ดังนี้

1.การจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย กรอบวงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการเพื่อการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนดังนี้

1.1. โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. วงเงิน 5,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการที่จะได้รับการสนับสนุน ไม่น้อยกว่า 4,890 ราย แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ บุคคลธรรมดา วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.0 ต่อไป ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ระยะปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี ดำเนินการโดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.)

1.2. สนับสนุนงบประมาณโครการ บสย. SMEs สร้างไทย โดย สสว. จ่ายเงินสมทบในการจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 5,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลืออุดหนุน SMEs ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี โดยให้เป็นเงินสมทบในการจ่ายค่าประกันชดเชยให้ บสย. ในอัตราร้อยละ 10 ส่วน บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยในอัตราร้อยละ 30 รวมเป็นค่าประกันชดเชยร้อยละ 40 ทั้งนี้จะมีผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 70,000 ราย

2.โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ (FX Option) เสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อผ่อนภาระของผู้ประกอบการและแรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็ง วงเงิน 450  ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ระยะๆ แรก วงเงินงบประมาณ 225 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณ 225 ล้านบาท พิจารณาอนุมัติวงเงินอุดหนุน 100,000 บาทต่อราย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศมีความรู้จากโครงการดังกล่าว จำนวน 2,000 ราย โดยมีธนาคารรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารเอกชน 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และ ธนาคารยูโอบี เป็นหน่วยร่วมดำเนินงาน

3.การจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อใช้ในการดำเนินงานมาตรการ

ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมครบวงจร (มาตรการ MSME 2020) งบประมาณ 215 ล้านบาท ดำเนินการ 13 มาตรการ โดยมุ่งเน้นไปยังประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1.การปรับสถานะกองทุนภาครัฐที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับ MSME ให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 2.การให้ บสย. พิจารณาการค้ำประกันทางตรงแก่ SME ที่มีศักยภาพ 3.สินเชื่อระยะสั้น-กลางสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 4.พัฒนาระบบการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (SME Academy 365) 5.การส่งเสริมการจัดทำบัญชีของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจรายย่อย 6.ระบบคูปองเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน 7.พัฒนากลไกกลางในการพัฒาช่องทางการตลาดให้แก่ MSME 8.การจัดมหกรรมการจำหน่ายสินค้า MSME 9. มาตรการ MSME ล้มแล้วลุก 10. การลดอุปสรรคในการฟื้นฟูธุรกิจ 11. การพัฒนาระบบประเมินศักยภาพ SME และฐานข้อมูล SME Big Data 12.การพัฒนาระบบการให้เอกชนสามารถเป็นหน่วยงานในการการให้การส่งเสริม MSME 13. ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

4.การจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อดำเนินโครงการศึกษาเพื่อ

ขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Do Business) ระยะที่ 3 งบประมาณ 40 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี เพื่อจัดทำนโยบายการปฏิรูปปรับปรุงแผนปฏิบัติการและจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อช่วยผลักดันอันดับของประเทศไทยในรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญที่ธนาคารโลกต้องการให้ปรับปรุงคือ การเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของ SMEs โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

“ภาพรวมมาตรการส่งเสริม SME ของ สสว. แบ่งเป็นมาตรการด้านการเงิน 10,450 ล้านบาท ได้แก่โครงการสนับสนุน SME รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. 5,000 ล้านบาท อุดหนุนผ่านโครงการ บสย. สร้างไทย 5,000 ล้านบาท โครงการ FX Option 450 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนมาตรการ MSME 2020 วงเงิน 215 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 10,665 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นแนวทางการทำงานของ สสว. ในการขับเคลื่อน SME เพื่อนำไปปรับปรุง ซ่อมแซม ยกระดับการพัฒนาการให้บริการและขยายกำลังการผลิต ซึ่งจะทำให้กิจการสามารถดำเนินงานต่อไปได้ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนของเงินทุนในระบบ และยังเป็นการรักษาการจ้างงาน หรือเกิดการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย” ดร.วิมลกานต์ กล่าวในที่สุด