ยกระดับ ‘กองทุนเอฟทีเอ’ เยียวยาพัฒนาศักยภาพผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี

834

กระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ หารือภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับกลไกเยียวยาและพัฒนาศักยภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบ ย้ำ กลไกที่จะนำมาใช้ต้องตอบโจทย์ ก่อนเสนอ ‘จุรินทร์’ เห็นชอบ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (คณะทำงานพัฒนากองทุนเอฟทีเอ) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงความจำเป็นในการมีกลไกเยียวยา พัฒนาปรับโครงสร้างหรือศักยภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตกลงเอฟทีเอ ให้สามารถปรับตัวรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งสืบเนื่องจากที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในเรี่องการเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ อาทิ ไทย-อียู โดยกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อย (SME) เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า เนื่องจากกลไกหรือกองทุนที่มีอยู่ยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ และเตรียมความพร้อมกลุ่มเหล่านี้รับมือการแข่งขันจากเอฟทีเอ

นายบุณยฤทธิ์ เสริมว่า การประชุมคณะทำงานฯ ประกอบด้วย ผู้แทนกรมบัญชีกลาง สภาพัฒน์ฯ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ โดยที่ประชุมได้รับทราบจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ว่า การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดย พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และประกาศกระทรวงการคลัง เช่น จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องมีรายได้ที่ทำให้กองทุนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอพึ่งงบประมาณสนับสนุนรายปีจากภาครัฐ เป็นต้น จึงได้มอบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ ไปหารือกรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อมูลตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด รวมถึงกลไกทางเลือกต่างๆ และต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงเอฟทีเอ 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ อาทิ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง รวมทั้งอยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอกับอาร์เซ็ป 16 ประเทศ ตุรกี  ศรีลังกา ปากีสถาน และมีแผนเปิดการเจรจากรอบใหม่ เช่น ไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร เป็นต้น ซึ่งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อช่วยกลุ่มเกษตรกรปรับโครงสร้างการผลิต และลดผลกระทบจากเอฟทีเอ และโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการของบประมาณรายปี ไม่ใช่กองทุนหมุนเวียน ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเกษตรกร และ SME ซึ่งการขอใช้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องมีการเขียนโครงการเสนอ และรูปแบบความช่วยเหลือที่ให้ส่วนใหญ่จะเน้นการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นต้น การประชุมครั้งนี้ จึงร่วมกันหาแนวทางพัฒนากองทุน ให้สามารถพัฒนาศักยภาพผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม