สภาทนายความ เดินหน้าดำเนินคดีมรรยาท “ทนายนอกลู่”

51

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินคดีมรรยาททนายโซเชียล หรือทนายหิวแสง ต่อสื่อมวลชนว่า ได้ประสานความร่วมมือกับประธานกรรมการมรรยาท สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบเอาผิดทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาทอย่างจริงจัง และเร่งรัดการพิจารณาคดีมรรยาทที่ทนายโซเชียล ได้ละเมิดต่อข้อบังคับของสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ จนส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร และสมาชิกทนายความส่วนใหญ่ หากมีข้อเท็จจริงปรากฏตามสื่อต่างๆสามารถที่จะหยิบยกนำมาเป็นคดีมรรยาทได้ทันที เพราะเป็นเรื่องที่ความปรากฏอย่างชัดแจ้ง

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้กล่าวต่อไปว่าในการพิจารณาคดีมรรยาท ในเบื้องต้นนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการมรรยาท และกรรมการมรรยาทสภาทนายความ เมื่อคณะกรรมการมรรยาท พิจารณาคดีแล้วเสร็จ จึงจะส่งสำนวนคดีมรรยาทให้แก่นายกสภาทนายความเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการบริหารสภาทนายความมีอำนาจในการที่จะทำคำสั่ง หรือคำวินิจฉัย โดยมีอำนาจอิสระที่จะจำหน่ายคดี ยกข้อกล่าวหา ลดโทษ หรือเพิ่มโทษได้ด้วย เมื่อมีการพิจารณาคดีเสร็จ นายกสภาทนายความจะ

ส่งเรื่องคืนไปยังประธานกรรมการมรรยาท เพื่อแจ้งให้คู่กรณีได้รับทราบผลคดี และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว   ประธานกรรมการมรรยาท จะแจ้งคำสั่งลงโทษนั้นไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และเนติบัณฑิตยสภา เพื่อทราบต่อไป อนึ่ง โทษที่จะลงแก่ทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ  1.ภาคทัณฑ์ 2. ห้ามการเป็นทนายความไม่เกิน 3 ปี 3. ลบชื่อจากทะเบียนทนายความ

หากทนายความคนใดได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอก  ฉ้อโกง หรือตระบัดสินลูกความ หรือประกอบอาชีพ ดำเนิน หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ ถือว่าเป็นเหตุที่จะทำการลบชื่อจากทะเบียนทนายความได้ รวมถึงการเสี้ยมสอนให้พยานเบิกความเท็จ หรือทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ การอวดอ้างว่าตนเองเก่งกว่าทนายคนอื่น หรือ อวดอ้างว่ามีพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้ลูกความหลงเชื่อว่าตนสามารถทำให้ลูกความได้รับประโยชน์พิเศษนอกจากทางว่าความ หรือจะชักจูงใจผู้นั้นช่วยเหลือทางคดีได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนทำคดีนั้นแล้วจะหาทางให้ผู้นั้นทำให้คดีลูกความแพ้ หรือการเรียกรับเงินไปวิ่งเต้นคดี การแย่งคดี หรือจงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี เป็นต้น  ล้วนแต่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททั้งสิ้น

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่าขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ามีเพียงทนายความบางคนเท่านั้นที่สร้างปัญหา และคนเหล่านี้จะต้องถูกจัดระเบียบอย่างจริงจัง และสมาชิกทนายความส่วนใหญ่รักองค์กร พร้อมที่จะอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และพร้อมที่จะช่วยกันรักษาองค์กรให้เป็นที่พึ่งประชาชนสืบต่อไป