From Waste To Energy โรงไฟฟ้าจากขยะ…รองรับยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน

2209

ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 75,000 ตัน/วัน  ขณะที่เราก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเน้นความสำคัญการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  เมื่อเร็วๆนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดงานเสวนาเรื่อง”From Waste To Energy…โรงไฟฟ้าจากขยะ” งานวิศวกรรมแห่งชาติ62 ณ อิมแพ็คโฟรั่ม  เพื่ออัพเดทองค์ความรู้และแนวทางธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาสนับนุน ทำให้มีการนำขยะหมุนเวียนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า

รศ.เกียรติไกร อายุวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรต้องมีวิธีการจัดการปัญหาขยะหลายทางเลือกและให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยต้องได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยด้วย การจัดการขยะด้วยวิธีการฝังกลบ (Landfill) เป็นอีกหนึ่งหนทางในการจัดการขยะแบบหมุนเวียน ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายขยะให้กลายสภาพเป็นก๊าซมีเทน สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อก๊าซหมดก็สามารถขุดขยะขึ้นมาคัดแยกก็จะได้เศษไปเป็นเชื้อเพลิงได้อีก และยังเป็นการหมุนเวียนใช้ที่ดินเดิมสร้างบ่อฝังกลบใหม่ได้อีกครั้ง ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและประเทศไทย

โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยต่อยอดโครงการบ่อขยะฝังกลบที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ที่รองรับขยะจากกรุงเทพฯ ประมาณวันละ 3,000 ตัน พบว่าปัญหาขยะส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูง ส่งผลให้ก๊าซมีเทน ที่ได้ไม่มีความเสถียร จึงคิดค้นและพัฒนาระบบการวางท่อแบบใหม่ ใช้เวลา 6 ปี ในการศึกษาบนพื้นที่บ่อฝังกลบขยะ 70 ไร่ จนประสบความสำเร็จสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 200 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ซึ่งเป็นการวางท่อรวบรวมก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะเก่า ก๊าซที่ได้ต้องมีปริมาณมีเทนมากกว่า 45% โดยต้องนำก๊าซมีเทนที่ได้เข้าสู่ระบบทำความสะอาดเพื่อกำจัดก๊าซออกซิเจนและลดความชื้น ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าต่อไป

นายคณพศ นิจสิริภัช ประธานกรรมการ บริษัท ไบร์ท บลู วอเตอร์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (Bright Blue Water Corporation Limited) และ ประธานบริหารบริษัท Advance Power Conversion กล่าวว่า เทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันการบริหารจัดการปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และหมุนเวียนนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประโยชน์รอบด้าน สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 8,000 โรงงาน สร้างขยะมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งเกิดจากผู้อยู่อาศัยและผู้ที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ เฉลี่ยปริมาณขยะวันละกว่า 4,000 ตัน โรงไฟฟ้าแพรกษามีพื้นที่ทั้งหมด 320 ไร่ สามารถรองรับขยะได้วันละ 500 ตัน ส่วนที่เหลือ 3,500 ตัน ใช้วิธีการฝังกลบ ซึ่งหากได้สัญญาซื้อขายพลังงาน (PPA) คาดว่าจะสามารถจัดการกับขยะทั้งหมดและผลิตไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์

วิธีการแก้ปัญหาขยะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.วัสดุที่เผาไหม้ได้ (Combustible material) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของน้ำหนักขยะ ส่วนใหญ่มีราคาถูก น้ำหนักเบา ไม่ย่อยสลาย และไม่คุ้มค่าในการรีไซเคิล แต่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ได้ โดยวิธีการเผาในโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน สามารถควบคุมการเผาไหม้ อุณหภูมิ ควัน ไอเสีย และมลพิษอื่น ๆ ก่อนปล่อยสู่อากาศ การเผาจะทำให้เกิดความร้อนที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้นการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะในรูปแบบของ Feed-in Tariff (FIT) หรือ Adder เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจัดการปัญหาขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยออกเป็นสัญญาซื้อขายพลังงาน (PPA) กระตุ้นให้เอกชนเข้ามาลงทุน  2. ขยะอินทรีย์สาร คิดเป็นร้อยละ 30 เป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้ แต่ขยะจำพวกนี้ไม่มีค่าความร้อนและไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่นำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ ไบโอแก๊สได้ หรือฝังกลบ 3. ขยะรีไซเคิล คิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งต้องเป็นขยะที่ต้องผ่านการคัดแยกก่อน ที่เหลืออีก 90% ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถกำจัดได้

ทั้งนี้มาตรฐานของโรงไฟฟ้าขยะจะต้องไม่น้อยกว่าโรงผลิตแก๊สธรรมชาติ เนื่องจากโรงไฟฟ้าขยะนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะเป็นทางออกการจัดการกับปัญหาขยะในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

นายทองคำ ปิยธีรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน กล่าวว่า สำนักงาน กกพ. มีหน้าที่ออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าและดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้ผู้ใช้ทุกราย รวมถึงสนับสนุนนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจพลังงานของภาครัฐอย่างมั่นคง ตลอดจนเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับหน่วยงานท้องถิ่น โดยโรงไฟฟ้าขยะจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ให้ปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Code of Practice : CoP) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดล็อคให้โรงไฟฟ้าขยะชุมชน และ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมได้มีมาตรฐานมากขึ้น

ในส่วนของขยะชุมชน กฎหมายได้ระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่ในการจัดเก็บขยะและการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาร่วมทุน ทั้งการจัดเก็บขยะ การขนย้ายขยะ การทำโรงไฟฟ้า หรือการแปรรูปขยะสดให้เป็นเชื้อเพลิงแห้ง RDF เพื่อส่งต่อให้คลัสเตอร์อื่น ๆ เป็นต้น รวมถึงดูแลในส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะในพื้นที่ตนเอง โดย กกพ.จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนตามขั้นตอนและความเหมาะสม โดยเฉพาะการกำหนดอัตราคงที่การรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนลงทุนได้ ดังนั้นกฎหมาย CoP จึงเป็น ขั้นตอนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งแบ่งการจัดการออกเป็น 4 ระยะ คือ 1.ระยะเตรียมการก่อสร้าง 2.ระยะก่อสร้าง 3.ระยะดำเนินการ และ 4.ขั้นตอนการรื้อถอนอาคาร ซึ่งแตกต่างจาก EIA ในเรื่องของการคัดแยกขยะเชื้อเพลิงก่อนทำการเผาในโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ กกพ. จะควบคุมกำกับดูแลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานตามประมวลหลักการปฏิบัติ CoP ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนน้อยที่สุด

ทั้งนี้ทางกระทรวงพลังงานมีแนวทางส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าขยะ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561 – 2580 (PDP 2018) ที่ขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะอีก 400 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม 500 เมกะวัตต์ ส่วนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่ม 5 – 6 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง