ศูนย์ประสานร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง สำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ ยื่นร่าง พ.ร.บ. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังรวบรวมรายชื่อผู้เสนอครบ ๒๐,๐๐๐ คน เชื่อมั่น พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ใหม่ให้ประชาชนหลายแสนบาทต่อปี ทั้งการขายคาร์บอนเครดิต เปลี่ยนต้นไม้เป็นทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2567 ศูนย์ประสานร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง สำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ….นำโดย ดร.เฉลิมชัย สมมุ่ง ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย เดินทางมายื่นร่าง พ.ร.บ. จัดตั้ง สำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ….ภายหลังคณะผู้เชิญชวนได้ดำเนินการชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้จำนวน ๒๐,๐๐๐ คน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณานำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯใหญ่ และประกาศใช้ตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนต่อไป
ดร.เฉลิมชัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การนำเสนอ พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นรัฐวิสาหกิจ ขึ้นกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนการทำคาร์บอนเครดิตภาคประชาชน สนับสนุนการปลูกต้นไม้ เป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกในการจัดการด้านคาร์บอนเครดิตโดยตรงจากการปลูกต้นไม้ อำนวยความสะดวกประชาชนในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“พรบ.ฉบับนี้ จะทำให้ชาวบ้าน เกษตรกร หันมาปลูกต้นไม้ เพราะเขาจะมีรายได้จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งเขาสามารถขายตรงกับหน่วยงานต่างๆได้เลย เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ เงินจะไหลเข้าไปสู่ภาคประชาชนมากกว่าดิจิทัลวอลเลตเป็นร้อยเท่า ทุกบ้านจะมีรายได้หลายแสนบาทต่อปี และยังสามารถเปลี่ยนเป็นโครงการต้นไม้แลกเงิน กับบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้บริการสินเชื่อด้านนี้ได้อีกด้วย เช่น นาย ก. ขายคาร์บอนเครดิตมีรายได้ปีละ 1 ล้านบาท เขาสามารถนำต้นที่ผลิตคาร์บอนเครดิตนั้น มาแปลงเป็นเงินคูณ 5 เท่า ในอัตราดอกเบี้ย 3.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และเมื่อถึงเวลาคืนเงิน เกษตรกรก็ไม่ต้องคืนเป็นเงินสด แต่คืนเป็นคาร์บอนเครดิต คือให้ต้นไม้ใช้หนี้แทน นี่คือกลยุทธ์ดีที่สุดในประเทศไทย รัฐบาลไม่ต้องบังคับให้เขาปลูกต้นไม้ เพราะเขาจะปลูกกันเอง และคอยดูแลต้นไม้อย่างดี เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตเงินของเขา” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ดร.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า พรบ.ฉบับนี้จะทำให้กลุ่มรากหญ้าแข็งแรงอย่างมหาศาล โดยที่รัฐบาลไม่ต้องไปอุ้ม ไม่ต้องคอยแจกเงิน เพราะนโยบายที่ทำมาจากความต้องการของประชาชนโดยตรง แก้ปัญหาความยากจนอย่างเห็นผล ยั่งยืน และเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของโลก