4 องค์กรเห็นพ้อง‘รถอีวีจีน’ เป็นมิตรกับเศรษฐกิจ ช่วยพยุงตลาดรถยนต์ขาลงของไทย

183

กรุงเทพฯ-เผย4องค์กรเกี่ยวข้องรถยนต์อีวี.เห็นตรงกัน“รถอีวีจีน”ไม่เป็นพิษแต่เป็นมิตร ช่วยพยุงตลาดรถยนต์ช่วงขาลงของไทย สคบ.ย้ำการแข่งขันเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องมีความรับผิดชอบกับผู้บริโภค ส่วนสภาทนายความฯพร้อมผนึกสคบ.แก้ปัญหาความเดือดร้อน ขณะที่สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยยันทุกค่ายรถยนต์อีวีรับรู้ทุกปัญหา เร่งแก้ไขจุดอ่อนไปพร้อมกับผู้บริโภค

18 กรกฎาคม 2567 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน ได้จัดการเสวนา “EVจีน เป็นมิตรหรือเป็นพิษต่อเศรษฐกิจไทย” ณ สภาทนายความฯ ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานและวิทยากร นายอนุพงษ์ เจริญเวช นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) นายกสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นายจตุรงค์ กอบแก้ว บรรณาธิการข่าวรถยนต์ สำนักข่าวสืบจากข่าว โดยมีนายชัยวัตน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีนเป็นผู้ดำเนินการรายการ

ดร.วิเชียร ได้เปิดการเสวนาในครั้งนี้ว่า การที่สภาทนายความฯร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน จัดการเสวนาในครั้งนี้ เพราะได้เล็งเห็นความสำคัญต่ออุตสาหกรรมรยนต์ มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างยาวนาน ทั้งการสร้างงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการส่งออก ถึงปัจจุบันเราทราบดีว่าการเติบโตของอุตฯรถยนต์ไฟฟ้า คือกระแสโลกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมัน มลพิษ  โลกร้อน และนำมาซึ่งพลังงานที่สะอาด ซึ่งเป็นพันธกิจของนานาประเทศที่ตกลงกันในความร่วมมือกัน

การเข้ามาลงทุนของค่ายรถยนต์จีนหลากหลายแบน คือตัวเร่งพัฒนาอุตฯรถยนต์ของไทย ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งแรกเริ่มคิดว่าน่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและยาว แต่การรุกเข้ามาอย่างรวดเร็วและการตลาดที่ดุดันตามสไตลของจีน ได้ส่งผลกระทบเชิงประจักษ์อย่างรุนแรงต่อตลาดรถยนต์เดิม การแข่งขันด้านราคาได้เกิดขึ้นก่อนแล้วในตลาดจีนและรถยนต์ทั่วโลกตะวันตก จนมองอีวีจีนว่าเป็นภัยคุกคามด้านอุตสาหกรรมรถยนต์โลก

วันนี้สงครามราคาในไทย ก่อให้เกิดความกังวลและคำถามว่า แท้จริงแล้วการเข้ามาของรถไฟฟ้าจีนจะสร้างความเฟื่องฟูหรือมหาพายุที่จะกวาดทำลายล้างคู่แข่ง จะเอื้ออำนวยให้กับผู้บริโภคให้ได้ใช้ของดีราคาถูกหรือเป็นแค่ภาพลวงตาที่ต้องจ่ายราคาแพงในอนาคต

การขยายการค้าและการชักชวนการลงทุนจากต่างประเทศเป็นภารกิจของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ละเลย ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของคนในประเทศ รัฐบาลต้องกำกับให้ผู้ลงทุนเล่นกันตามกติกาหรือจะปล่อยให้เสรีแล้วจะมีการพลิกแพลงขบวนท่า จะส่งผลดีหรือผลร้ายต่อธุรกิจค้าอย่างต่อเนื่อง จะเป็นมิตรหรือเป็นพิษต่อระบบเศรษฐกิจไทย ก็ให้วัดผลกันในอนาคตหรืออย่างไร

นายสุโรจน์ ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนขึ้นมา2% ทำให้ธนาคารอนุมัติเงินกู้ยากขึ้น 10เคสผ่านแค่3 ก็ทำให้การขายรถยนต์ในประเทศมียอดตกไป จากที่เราเป็นอันดับ1ในอาเซียนในการผลิต ตอนนี้ก็ตกลงมาอยู่อันดับ3 โดยที่อันดับ1กลายอินโดนีเซีย อันดับ2เป็นมาเลเซีย โดยที่เขาไม่ได้ผลิตเพิ่ม แต่เรายอดขายต่ำลงเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถปิคอัพสันดาปยอดลดลงไป40%

จริงๆ รถไฟฟ้าจีนเข้ามาไทยตั้งแต่ปี2016 โดยMG เปิดเป็นเจ้าแรกในราคาที่สมเหตุสมผล แต่ก่อนมีไม่ถึง200คัน ได้ขยับมาเป็น 2,000คันในปีแรก ในปีที่2 เปิดราคามาต่ำกว่าล้านบาท โดยยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐเลย ตั้งแต่ปี2022 หลังรัฐสนับสนุนในปี2022-23 ทำให้ยอดพุ่งขึ้นกว่า 600% ตอนนี้ราคารถไฟฟ้าต่ำกว่าสันดาปแล้ว

มองว่าการมาของค่ายจีน เป็นการเข้ามาตามปกติ ตอนนั้นยังไม่มีความรุนแรงของปัญหาการค้าระหว่างอเมริกากับจีน จากการแข่งขันด้านราคาในจีนทำให้บริษัทรถหายไป เหลือแค่ 100กว่าบริษัท จากเดิม 4-500บริษัท พิสูจน์ให้เห็นชัดเลยว่า “ตายหมู่” ไม่ได้เป็นการส่งเสริม ทั้งที่ผู้บริโภคที่กำลังจะซื้อเห็นว่าได้ราคาถูกกว่า แทนที่จะซื้อแต่ไม่ซื้อคอยดูว่าจะลดลงอีกไหม ก็ทำให้ตลาดยิ่งซบเซาเข้าไปอีก

การย้ายมาของค่ายจีนนั้น จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้ตั้งใจเพราะรถยนต์ล้นตลาด (Over Supply) อย่างที่หลายคนคิด จีนเล็งเห็นอยู่แล้ว เขาต้องถูกกีดกันทางการค้าจากอเมริกาและยุโรป ปีที่แล้ว จีนเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ณ ตอนนี้ประตูถูกปิดแล้ว ไม่เฉพาะขึ้นกำแพงภาษี แต่มีเงื่อนไขทางเอกสารข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการผลิตที่จีนให้ไม่ได้ ในขณะที่จีนยังไม่ได้ย้ายฐาน

ดังนั้น การโยกย้ายฐานมายังประเทศอาเซียน คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศไทย เพราะการส่งออกเริ่มชะลอตัวลงเหมือนกัน ซึ่งเราสามารถที่จะรับส้มหล่นจากจีนตอนนี้ได้ ในอาเซียน เราก็พยายามให้ลงในประเทศไทยมากที่สุด คิดว่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทย

ปัญหาเรื่องโรงงานศูนย์เหรียญนั้น ต้องดูทุกด้าน เพราะมีการเปิดโรงงานจริงๆ มีการซื้อที่ดิน และต้องจ่ายภาษีต่างๆ เป็นรายได้ในประเทศหมด วัตถุดิบการก่อสร้างโรงงานก็เป็นของท้องถิ่น ผู้รับเหมาจากจีนก็อีกเรื่องหนึ่ง นั้นคือจุดเริ่มต้นไม่ใช้โรงงานศูนย์เหรียญ ในเคสของMG ลงทุนประเทศไทยตั้งแต่ปี 2013 หรือ 11ปี ซึ่งได้ลงทุนไปกว่า 5 หมื่นล้านบาทแล้ว

พอมีประเด็นโรงงานศูนย์เหรียญ การตรวจสอบโรงงานก็ต้องเพิ่ม แทนที่จะตรวจว่ามีพนักงานกี่คน เพิ่มรายละเอียวว่า เป็นจีนกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นไทยกี่เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ชัดว่า เราจ้างคนไทยทำ ดังนั้นการย้ายฐานผลิตมาอาเซียนเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามทางการค้านั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า พาสเข้ามาแล้วมาขันน๊อตในประเทศไทยและส่งออกไป ทางยุโรปก็ไม่ได้โง่ คือต้องเปลี่ยนถิ่นฐานการผลิต ต้องใช้โลคัลคอนเทนต์หรืออาเซียนคอนเทนต์ในการผลิตมากขึ้น ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ต้องมีบริษัทจีนมาซ้อนกับประเทศไทยมีการซื้อโรงงานทำให้เกิดซับพลายเกิดขึ้น ตอนนี้ถึงแม้จะมีค่ายจีนมาผลิตแล้ว แต่โนฮาวของซับพลายเชนก็ยังไม่สามารถทำอี-พาสได้ แต่ก็เป็นนิมิตอันดีของไทยที่จะสามารถเติบโตได้

การผลิตชดเชยนำเข้าในปี 2022-23 ต้องผลิตชดเชยในปี 2024-25 ถ้าผลิตในปี 2024 ได้1เท่าของปีที่นำเข้ามา แต่ถ้าไม่ได้จะต้องผลิตเพิ่ม 1.5เท่า ถ้านำเข้ามาพันคัน ผลิตชดเชยแค่ 900 คันขาด 100คัน ไม่ได้หมายความว่า ผลิต 150 คัน แต่ต้องผลิต 1,500คัน หรือ 2เท่าของที่นำเขา ในปีนี้เริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศแล้ว ก็มีMG  GWM  NETA และ AION เริ่มผลิตแล้วและจะตามด้วย BYDและChangan

“ผมมองว่าเป็นมิตร ที่ใช้บ้านเราเป็นฐานผลิตส่งออกและจะทำให้เราเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตามที่รัฐบาลมีเป้าหมายไว้”

ด้านนายจตุรงค์ บรรณาธิการข่าวรถยนต์ สำนักข่าว สืบจากข่าว ระบุว่า วันนี้ค่ายรถยนต์ชั้นนำของจีน ได้เข้ามาปักธงตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในไทยแล้ว จำนวน 8 ราย โดยมุ่งหวังให้ไทยเป็น “ฮับ” ส่งออกทั่วโลก รวมมูลค่าเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.3 แสนล้าน ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 5.5 แสนคันต่อปี ในด้านบวกนั้น จะช่วยให้การประกาศเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะหนึ่งในองคาพยพสำคัญ ที่จะทำให้ก้าวไปสู่เป้าหมายได้ก็คือ การมีส่วนแบ่งรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเข้ามาตั้งโรงงานรถยนต์ของจีนในไทย ยังเป็นไปเพื่อการถ่ายเทกำลังการผลิตส่วนเกินในจีนมาเจาะตลาดภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ มากกว่ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อให้มูลค่าเพิ่มภายในประเทศ เมื่อเทียบกับการที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ระบบ ICE ในอดีต ทำให้มูลค่าการผลิตรถยนต์อีวี 1 คัน ต่ำกว่าการผลิตรถยนต์ ICE อย่างมาก เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากจีน ในขณะที่ในกลุ่มสินค้าเดิมที่ไทยสามารถผลิตได้มีแนวโน้มต้องลดราคาเพื่อแข่งกับผู้ประกอบการจีน ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าไทย เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องจัดการให้เกิดความสมดุล โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับรถอีวี ที่ต้องมีเงื่อนไขชัดเจน เช่น ต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศเท่านั้น และใช้วัตถุดิบในประเทศจำนวนท่าไหร่ เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ส่วนนายอนุพงษ์ กล่าวถึงปรากฎการณ์ลดราคาของค่ายรถยนต์อาจกระทบกับผู้บริโภคว่า การลดราคาเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซึ่งเราก็เห็นด้วยอย่างมาก แต่จากปรากฏการณ์รถยนต์ไฟฟ้าก่อนหน้านี้มีการประกาศลดราคาจนเป็นข่าว ก็ตั้งข้อสังเกตว่า ทำได้หรือไม่ได้ จริงๆ มีอีก2หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ลดราคาแบบนี้ถูกต้องไหม แข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่ หรือแม้แต่กระทรวงพาณิชย์ ก็ดูได้ว่า มันเป็นการทุ่มราคาทำให้ตลาดปั่นป่วนหรือเปล่า แต่ทุกคนก็ไม่ค่อยนึกถึง แต่จะนึกถึงสคบ.ว่า ราคานี้ทำได้หรือไม่ได้ จนนางสาวจิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ ให้เข้ามาดูแลในเรื่องนี้หน่อย

ในมิติดูแลผู้บริโภคที่ซื้อไปแล้ว ในการประกาศลดราคานี้ ได้ฝ่าฝืนกฎหมายที่สคบ.ดูแล้วนี้หรือไม่อย่างไร  อำนาจหน้าที่ของสคบ.นี้ เรามีมิติควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจในด้านโฆษณา ไม่เฉพาะธุรกิจขายรถยนต์ ธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ที่มีการโฆษณาขาย ทำการตลาด สคบ.สามารถเข้าไปดูได้หมดเลย การโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ การลดราคา การให้สิทธิ การให้ของแถม เราเข้าไปดูได้

ส่วนเคสที่ปรากฏเป็นข่าว เราได้มีการพูดคุยกับทางBYD แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติในวันที่มาชี้แจง ซึ่งเขาเองก็ร้อนใจและตกใจที่ถึงหน่วยงานของรัฐว่า มันเกิดอะไรขึ้น เขามาชี้แจงถึงขบวนการว่า เหตุผลที่มาที่ไป ขอเปรียบเทียบที่ยังไม่ลงรายละเอียดว่า

“เขาซื้อรถก่อนหน้านี้ เขามีราคาๆหนึ่ง มีโปรโมชั่นในช่วงนั้น พอขึ้นมาปีใหม่เป็นรถรุ่น 2024 เขาก็ต้องการทำโปรโมชั่น ไปลดโปรโมชั่นบางอย่างมาให้เป็นเงินสดแทน เป็นเรื่องกลไกลเรื่องของการทำการตลาด ผมว่าก็คงใช้ได้แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ จริงๆ แล้วถ้าเราลงลึกถึงรายละเอียด สิ่งที่เขาให้เมื่อปีที่แล้ว เผลอๆ อาจจะคุ้มค่ากว่าเงินสด ณ ขณะนี้ก็ได้ การใช้กลไกทางการตลาดของผู้ผลิตด้วยการลดราคามันก็เป็นไปได้”

แล้วถามว่า การโฆษณาขายสินค้าและโฆษณาต่างๆ ทางสคบ.บอกเลยว่า 1.ห้ามใช้ข้อความเป็นเท็จหรือเกินความจริง 2.ก่อให้เกิดความผิด 3.ห้ามส่งเสริมให้ทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม 4.ห้ามสร้างความแตกแยกของคนในชาติ 5.การโฆษณาให้ของแถมให้สิทธิประโยชน์ กฎหมายสคบ.บอกว่า สามารถทำได้ แต่ระบุเงื่อนไขตามที่สคบ.กำหนด นี้คือหลักกฎหมายกว้างที่ใช้กันอยู่

ถามว่าสินค้าลดราคามีมาก่อนหน้านี้ไหม จริงๆ ก็มีหลายอย่าง แต่สุดท้ายเราก็เชิญทางผู้ประกอบการมาให้ข้อมูลที่มาที่ไป ราคาขายจริงและลดเพราะอะไร นี่คือภาพกว้างๆ ที่เราคุยกับผู้ประกอบการ แล้วเขาจะนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาให้สคบ.อีกครั้ง บางอย่างอาจเกิดจากการเคลียสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ หรือของใหญ่ที่ผลิตออกมาเพื่อต้องการส่งเสริมการขาย เขาอาจจะไปตัดหรือลดสเป็คบางอย่างลง นี้คือสิ่งที่เขาไม่ได้สื่อสารออกมาข้างนอก เรื่องการลดราคา มี 100ร้องเรียนและหมื่นคนด่าสคบ. ซึ่งเราเองก็ไม่ห้ามแต่เราต้องบาลานซ์ความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจทำถูกต้องบนพื้นฐาน สิ่งที่เขาทำคือเรื่องจริง มีเหตุ มีผล หรือเขาจะทำการโฆษณาแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของสคบ. นี่คือสิ่งที่เราดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้กันมาทั้งรถยนต์สันดาป รถยนต์อีวี ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ถ้าไม่เป็นสินค้าอื่น ไม่ใช่รถยนต์อีวี เป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคบางอย่าง อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ทุกค่ายก็พยายามโฆษณาแข่งขันกัน ในด้านสรรพคุณต่างๆ ประสิทธิภาพก็ทำได้ แต่เราต้องมาบาลานซ์ดูข้อกฎหมายโฆษณา ต้องตรงกับความเป็นจริงของสินค้าตัวนั้นที่ทำได้ ไม่เป็นเท็จ ไม่เกินความจริง นี่คือบทบาทของสคบ.เข้ามาดูแลที่มีปรากฏการณ์ในการลดราคาว่า เราดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง

สุดท้ายแล้ว ถ้าเขาดำเนินการบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีเอกสารหลักฐานรองรับ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากพบว่าโฆษณาผิดตามกฎหมายของสคบ. มีบทบัญญัติลงโทษ  จำคุก  ปรับในการห้ามใช้ข้อความโฆษณา เรื่องโฆษณาแก้ไขการเข้าใจผิด ซึ่งสคบ.มีอำนาจหน้าที่ในหลายอย่างที่เกี่ยวกับโฆษณา