อ้อย น้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล คาดการณ์ปีหน้าเจ๊ง 1.5 แสนล้าน หากแบนสารกำจัดวัชพืช

1309

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย จัดประชุมหารือและประมวลข้อมูลผลกระทบในกลุ่มอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวข้อง พบตัวเลขหากเดินหน้าตามนโยบายเกษตรแบน 3 สารเคมีเกษตร เกิดความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะส่งผลกระทบสูงถึง  1.5 แสนล้านบาท ยังไม่รวมต้นทุนของเกษตรกรที่ต้องเพิ่มขึ้น

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 และส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 134 ล้านตันต่อปี เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำตาลทราย และผลพลอยได้จากกากน้ำตาล กากชานอ้อย กากตะกอน นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายประเภทได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ผลิตเอทานอล ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล และเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเคมี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และแหล่งวัตถุดับสำคัญในกิจการต่าง ๆ ที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ การแบนสารเคมีเกษตร โดยเฉพาะพาราควอต ได้ประมาณการณ์ผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ทั้งในระดับเกษตรกร อุตสาหกรรมแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและการส่งออก ดังนี้

จากการคาดการณ์ ผลผลิตจะลดลง 20%-50% ถ้าไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปกว่า 5.0 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่วนใบและยอดซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลจะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านบาท

ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปริมาณน้ำตาลทรายดิบจะหายไปประมาณ 6.7 ล้านตันต่อปี คิดเป็นรายได้ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกากน้ำตาลจะหายไป 3.3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ 1 หมื่นล้านบาท สร้างความเสียหายต่อการผลิตเอทานอลประมาณ 8.4 ร้อยล้านลิตร คิดเป็นรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน กากชานอ้อย วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะหายไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน สูญรายได้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 67.4 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทั้งปีจาก 2 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นรายได้ที่หายไป อัตรา 2.7 บาทต่อหน่วย ประมาณ 182 ล้านบาท รวมภาคอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่องสูญเสียทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท

ผลกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออก คิดเป็นร้อยละ 75 ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้ในประเทศ ปริมาณส่งออกประมาณ 10-11 ล้านตันต่อปี เหตุที่ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดี เพราะต้นทุนอ้อยในการผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเรื่องระยะทางและต้นทุนขนส่งต่ำกว่า แต่ปัจจุบันเกิดวิกฤตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมาก ทำให้ภาครัฐต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช ปุ๋ย เครื่องจักรตัดอ้อย ซึ่งเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดห้ามสนับสนุนเงินช่วยเหลือ แต่วิกฤตเดิมไม่ทันจะแก้ไข รัฐบาลกลับประกาศแบนสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ทางออกเดียวที่จะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมได้ จึงอยากให้รัฐพิจารณาใหม่อีกครั้ง และต้องเร่งรีบจัดการปัญหาโดยด่วน ไม่เช่นนั้นกระทบฤดูการปลูกต่อไปของอ้อยทันที เร่งรัฐหารือกับภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศที่ใช้แนวทางปฏิบัติการอนุญาตใช้สารเคมีเกษตรขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ยังใช้ พาราควอต ในพืชต่าง ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ชา กาแฟ มั่นฝรั่ง สัปปะรด พืชผักผลไม้ พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลเบอร์รี่ โดยผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้ก็นำเข้ามาบริโภคในประเทศไทย ดังนั้น การยกเลิกใช้ พาราควอต จึงไม่ใช่ทางออกของภาคเกษตรกรรมและผู้บริโภคไทย

คำกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมและสิ่งทดแทนพาราควอตนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ทั้งในด้านการตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งมีชีวิตในดินและน้ำ หรือสิ่งทดแทนพาราควอต ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ล้วนไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ในทุกพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งการใช้แรงงานคน การใช้เครื่องจักร ไม่สามารถใช้ในพื้นที่โคนต้น เนิน ดินแฉะ หรือพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องจักร หรือการเสนอสารทดแทน 16 ชนิด พบว่า ทั้งหมดไม่สามารถนำมาเป็นทางเลือกหรือทดแทน พาราควอต ได้ เพราะคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดมีผลต่อพืชเศรษฐกิจต่างกัน บางชนิดไม่สามารถฆ่าวัชพืชบางชนิดได้ บางชนิดหากใช้เป็นพิษต่อพืชปลูก บางชนิดปนเปื้อนน้ำบาดาลได้ บางชนิดใช้สภาพอากาศฝนตกชุกไม่ได้

ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ยืนยันประเด็นด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับพาราควอตว่า สังคมน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเนื้อเน่าเพิ่มมากขึ้นแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับพาราควอต แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้ง รายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารก ขาดข้อมูลที่ชัดเจนถึงการได้รับสารเคมีเกษตรกรและความผิดปรกติ สอดคล้องกับรายงานทางการแพทย์จากอดีตถึงปัจจุบันยังไม่พบการเกิดพิษจากพาราควอตในกลุ่มผู้ใช้เลย นอกจากนำไปดื่มกินเพื่อฆ่าตัวตาย ที่สำคัญมีรายงานล่าสุดจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ US EPA ระบุว่า “พาราควอต” ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน รวมทั้งข้อมูลที่กล่าวอ้างเรื่องการปนเปื้อน การตกค้างของพาราควอตไม่ขัดเจน ไม่มีนัยสำคัญทางพิษวิทยา อย่างไรก็ตาม การอบรมให้ความรู้และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีเกษตรของผู้ซื้อและใช้ เป็นสิ่งที่ดีและภาครัฐควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะสารเคมีเกษตร จำเป็นต่อกสิกรรมของไทย