ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม จับมือ ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส ดึงงานวิจัยจุฬาฯ เปิดมิติใหม่แปรรูปใบอ้อยเป็น “ใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน” รายแรกของเมืองไทย ด้วยเครื่องจักรสัญชาติไทย ราคาเอื้อมถึง ตอบโจทย์อุตสาหกรรมบีซีจี นอกจากลดการเผาอ้อย ลดมลพิษ PM 2.5 ยังช่วยลดการตัดไม้นำไปทำเป็นเชื้อเพลิง
“จุดเด่นของเครื่องจักรที่ผลิตจาก บริษัท ที.เอ็ม.ซี. คือผลิตขึ้นจากงานวิจัยให้เหมาะสมกับวัสดุทางการเกษตรของไทย ด้วยการออกแบบเครื่องจักรให้เหมาะกับลักษณะและพฤติกรรมการเก็บเกี่ยวของบ้านเรา เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาถูกกว่าการนำเข้า และสามารถบริการหลังการขายด้านการบำรุงรักษาได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้ทำงานวิจัยร่วมกับจุฬาฯมาปีเศษ เกี่ยวกับการผลิตเครื่องอัดเม็ดและอัดก้อนจากใบอ้อย มีการพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่อง จนปัจจุบันถือว่าสมบูรณ์ 100% นำไปใช้แปรรูปใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้เป็นพลังงานทางเลือกสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ลดปัญหามลพิษจากการเผาอ้อย ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 20 ล้านไร่ ถ้าสามารถแปรรูปใบอ้อยโดยไม่มีการเผาได้ ปัญหา PM 2.5 ก็จะลดไปได้อย่างมาก ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรกลุ่มอื่น เช่น ข้าว ข้าวโพด นำไปเป็นแนวทางปรับใช้ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นคุณอนันต์ต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลก” นายณัฏฐ์พงษ์ กล่าว
ด้านนายอภิวัฒน์ ถาวรแท้ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส จำกัด กล่าวว่า ปัญหาของการปลูกอ้อยในปัจจุบันคือการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวอ้อยถ้าใช้คนเก็บเกี่ยวก็จะมีเรื่องการเผาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีรถตัดอ้อย ต้องใช้คนเก็บเกี่ยว จึงจำเป็นต้องเผา บริษัท ทรัพย์ถาวรฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวไร่ มีพื้นที่ปลูกอ้อยหลายพันไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางบริษัทมีรถตัดอ้อยเก็บเกี่ยว จึงไม่ได้มีการเผาอ้อย และยังสามารถนำใบอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวขายให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล อีกส่วนหนึ่งบริษัทก็รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรในเครือข่ายด้วย แต่ปัญหาคือการขนใบอ้อยเป็นฟ่อนๆ ไม่คุ้มกับต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน ใช้ขนใบอ้อยได้แค่ 17-18 ตันก็เต็มคันรถ ทางบริษัทจึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะแปรรูปใบอ้อยก่อนส่งขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อสะดวกในการขนส่งและใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆได้ด้วย บริษัทได้รับคำแนะนำจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ไปดูงานวิจัยของศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ. สระบุรี ซึ่งศูนย์วิจัยจุฬาฯได้ให้การบริการวิชาการและวิจัยในการแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้ง มาเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล งานวิจัยของจุฬาฯทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ใหม่คือ แปรรูปใบอ้อยเป็น ใบอ้อยอัดเม็ดและอัดก้อน ถือเป็นรายแรกของประเทศไทย ที่ทำผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้ แม้การนำใบอ้อยไปผลิตกระแสไฟฟ้าจะมีมานานแล้ว แต่รูปแบบการใช้เป็นการนำใบอ้อยไปป่นก่อนทำเป็นเชื้อเพลิง แต่ของทางบริษัทเป็นรูปแบบการอัดเม็ดหรืออัดก้อน ขนส่งสะดวก เก็บไว้ได้นาน มีความชื้นต่ำและมีความหนาแน่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หลายประเภท ขณะที่ทาง บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส จำกัด ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. ทำให้บริษัททรัพย์ถาวรได้เครื่องจักรสำหรับแปรรูปใบอ้อยที่มีมาตรฐานจากงานวิจัย ราคาถูกกว่าการนำเข้า มีการบำรุงรักษาที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง บริษัทที.เอ็ม.ซี.เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการสร้างและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลได้ดีและเป็นมาตรฐานสากล ถ้าบริษัท ที.เอ็ม.ซี. สามารถพัฒนาเครื่องจักรที่มีคุณภาพได้ทุกขนาดกำลังผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาถูกลง คนไทยก็จะได้ประโยชน์ เพราะถ้าเครื่องอัดใบอ้อยมีมากขึ้น คนรับซื้อใบอ้อยมากขึ้น ก็ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากการขายใบอ้อย มีรายได้เพิ่มขึ้น และไม่ต้องเผาอ้อยให้เกิดเป็นมลพิษในอากาศ
“เราอยากให้มีโรงงานแบบบริษัททรัพย์ถาวรฯมากๆในประเทศ เพราะใบอ้อยเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ถ้านำมาทำประโยชน์ด้านพลังงานทางเลือกได้ ก็ช่วยลดการเผา ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ใช่ได้ประโยชน์เฉพาะชาวไร่ แต่ได้ทุกฝ่าย แม้กระทั่งประเทศชาติก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาทุกปี นอกเหนือจากไร่อ้อย ยังสามารถนำไปปรับใช้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างอื่น เช่น ข้าว ข้าวโพด ถ้ารัฐบาลสนับสนุนการซื้อเครื่องจักรเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก” นายอภิวัฒน์ กล่าว
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ ผู้อำนวยการศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ. สระบุรี กล่าวปิดท้ายว่า ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ. สระบุรี ให้บริการวิชาการและวิจัยในการแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้ง มาเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชีวมวลหลากหลาย โดยได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งปัญหาของชีวมวลประเภทหนึ่งเรียกว่า ‘ชีวมวลเบา’ เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ถ้าขนย้ายเพื่อนำไปทำพลังงานทางเลือกจะมีปัญหาค่าขนส่งแพง คนนำไปใช้ไม่คุ้ม โดยเฉพาะ ‘ใบอ้อย’ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเบาชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาที่ศูนวิจัยจุฬาฯที่สระบุรี มีแนวทางการแปรรูปอย่างไรเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมเกษตรกรไม่ให้เผาอ้อย ซึ่งสุดท้ายได้แนวคิดที่ว่า ชีวมวลเบาทุกชนิดจำเป็นจะต้องทำให้เป็นชีวมวลหนาแน่นก่อน จึงได้มีการทดลองผลิตเป็นเชื้อเพลิงแข็งหนาแน่นประเภทอัดเป็นเม็ด อีกประเภทคืออัดเป็นก้อน ทางศูนย์วิจัยจุฬาฯศึกษาเรื่องนี้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว สุดท้ายเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ไบโอชาร์และถ่านกัมมันต์ สำหรับการนำใบอ้อยมาอัดเป็นเม็ดและเป็นก้อนได้ ที่มีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้ได้ประโยชน์ในการขนส่งในรูปอัดเม็ดและอัดก้อนเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว ที่สำคัญเชื้อเพลิงนี้มีความชื้นต่ำ เก็บรักษาได้นาน การป้อนเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ทำได้ง่าย ไม่เกิดฝุ่นขณะการป้อน นอกจากนี้ใบอ้อยอัดเม็ดหรืออัดก้อน ยังสามารถเผาเป็นถ่านที่เรียกว่าไบโอชาร์ สามารถนำไปใช้เพื่อคิดเป็นคาร์บอนเครดิตได้ นี่คือปลายทางที่จะได้จากการแปรรูปดังกล่าว
“ศูนวิจัยจุฬาฯที่สระบุรี วิจัยเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อบริษัท ทรัพย์ถาวร มาดูโครงการที่สระบุรีก็สนใจมาก เนื่องจากบริษัททรัพย์ถาวรฯมีใบอ้อยประมาณ 1 แสนตันต่อปี ซึ่งปกติบริษัทฯขายเป็นฟ่อน ยิ่งไกลค่าขนส่งยิ่งแพง บริษัทจึงต้องการแปรรูป ซึ่งการอัดเม็ดหรืออัดก้อนจะทำให้ชีวมวลมีความหนาแน่นคงทนกว่าเป็นฟ่อน และเก็บได้นาน ขณะเดียวกัน บริษัท ที.เอ็ม.ซี. ก็มาดูโครงการผลิตเครื่องจักรกลในรูปแบบที่ใช้กับโครงการบีซีจีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่าบริษัทหนึ่งต้องการแปรรูปใบอ้อย อีกบริษัทสามารถผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร มาเจอกัน จึงนำความต้องการและจุดแข็งมาร่วมมือกัน ด้วยวัตถุประสงค์คือการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวลนั่นเอง” ศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการความร่วมมือ