Fintech พันธมิตรหรือคู่แข่ง

1294
ปาริชาติ จิรวัชรา

Fintech พันธมิตรหรือคู่แข่ง โดย ปาริชาติ จิรวัชรา | พาร์ทเนอร์ บริการที่ปรึกษาด้านบริหารความเสี่ยง และ กานต์ชนก บุญสุภาพร |  ที่ปรึกษาอาวุโส  Clients & Industries ดีลอยท์ ประเทศไทย

ปาริชาติ จิรวัชรา

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีทีผ่านมานี้ Fintech หรือ ผู้ประกอบการที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมวงการการเงินอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถแบ่ง Fintech ออกเป็น 4 กลุ่มหลักตามลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการ ดังนี้

1) กลุ่มผู้ให้บริการด้านตลาดทุนและธนาคาร เช่น การชำระเงิน หรือ Payment และ ด้านการให้กู้ยืม หรือ Lending เป็นต้น

2) กลุ่มผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการการลงทุน

3) กลุ่มผู้ให้บริการด้านประกัน เช่น P2P insurance และการประกันส่วนบุคคล และ

4) กลุ่มผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริการด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

กานต์ชนก บุญสุภาพร

โดยสตาร์ทอัพแต่ละกลุ่มมีจำนวนแตกต่างกัน หากพิจารณาในระดับโลก  สตาร์ทอัพจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการด้านตลาดทุนและธนาคารเป็นหลัก โดยเฉพาะบริการด้าน Payment ขณะที่ในไทยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มการให้บริการด้านการให้กู้ยืมเป็นหลัก นอกจากนี้ Fintech ยังประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น สะท้อนจากจำนวนสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่สูงถึงกว่า 40 ราย ซึ่งนับว่ามีปริมาณมากกว่าสตาร์ทอัพด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจท่องเที่ยว การศึกษา และค้าปลีก

อย่างไรก็ตามนอกจากสตาร์ทอัพจะเข้ามาในตลาด Fintech อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ หรือ Big tech เช่น Alibaba, Tencent และ Google ที่เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น โดย Big tech และเหล่าสตาร์ทอัพได้มุ่งพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยการนำ Emerging technology มาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็น Blockchain และ Artificial Intelligence หรือ AI โดยล่าสุด Ant Financial ในเครือ Alibaba ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันชำระเงิน ได้เริ่มผลักดันให้เกิดวิธีการจ่ายเงินด้วยรูปแบบใหม่ จากเดิมที่ผู้บริโภคจ่ายเงินผ่าน QR Code เปลี่ยนเป็นการยืนยันด้วยใบหน้าบุคคลแทน โดยมี AI เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้ง่ายมากขึ้นโดยเฉพาะสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากลูกค้าไม่จำเป็นต้องเปิดใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่อจ่ายเงินในละครั้ง นอกจากนี้เหล่า Big tech ยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าผู้ประกอบการดั้งเดิมในด้าน ecosystem เช่น การมีแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียและผู้ใช้งานจำนวนมาก ส่งผลให้มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค หรือเรียกได้ว่ารู้จักผู้บริโภคเป็นอย่างดี จึงช่วยสนับสนุนให้สามารถนำ Emerging technology มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าจนเหนือกว่าผู้ประกอบการดั้งเดิม

เรียกได้ว่าการเข้ามาของ Fintech ได้สร้างความท้าทายแก่ผู้ประกอบการด้านการเงินแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทประกัน ซึ่งมีแนวโน้มถูกแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด อีกทั้งยังส่งผลให้ธุรกิจด้านการเงินการธนาคารกลายเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดขึ้น เนื่องจากมีคู่แข่งเข้ามาแข่งขันจำนวนมากและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่ตรงใจผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้ประกอบการแบบดั้งเดิมยังได้รับผลกระทบเชิงลบทางอ้อม อย่างการสูญเสียโอกาสในการได้รับข้อมูลการบริโภคของผู้ใช้บริการแก่เหล่าสตาร์ทอัพและ Big tech เช่น การสูญเสียข้อมูล Transaction ของผู้บริโภค แก่ผู้ประกอบการที่ให้บริการ e-Wallet เป็นต้น

ดังนั้นท่ามกลางความท้าทายที่ถาโถมเข้ามานี้ ผู้ประกอบการควรเริ่มต้นจากการพิจารณาปัจจัยที่ทางบริษัทให้ความสำคัญก่อน เช่น หากต้องการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว ผู้ประกอบการควร Outsource กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปให้บริษัทอื่นที่มีความเชี่ยวชาญทำก่อนเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันและการมีอำนาจบริหารจัดการอย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าและบริการด้วยตนเอง โดยการตั้ง Fintech Unit ขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการตั้งบริษัทลูกแยกออกมากจากบริษัทแม่เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และร่วมมือกับสตาร์ทอัพ หรือ Big tech ในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่น China Everbright Bank ร่วมมือกับ Ant Financial โดยใช้เทคโนโลยีของ Ant Financial ไม่ว่าจะเป็น artificial intelligence-related applications และ biometric verification technology เพื่อช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการแก่ลูกค้าในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้ธนาคารไม่ต้องกังวลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้น

สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจที่กำลังศึกษาด้านFintech เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ Deloitte ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของงาน The Singapore FinTech Festival 2019  ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2019 ที่สิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย Singapore FinTech Festival (SFF) และ the Singapore Week of Innovation and TeCHnology (SWITCH) โดยภายในงานจะมีการรวบรวมนวัตกรรมทางด้าน Fintech และ Deep technology มาจัดแสดง ท่านสามารถเข้าสู่ Website https://deloittesea.az1.qualtrics.com/jfe/form/SV_41qozy6NL5WacYJ เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม และหากท่านสนใจเข้าร่วมงาน ท่านสามารถลงทะเบียนได้ผ่าน https://www.fintechfestival.sg/