ไข้หวัดใหญ่ เรื่องใหญ่ของคนรุ่นใหญ่

244

ไข้หวัดใหญ่ เรื่องใหญ่ของคนรุ่นใหญ่! ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สูง เผยผลวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง ทางเลือกใหม่ลดเสียชีวิตได้ดีขึ้น

ถึงแม้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นโรคที่เรามักคุ้นชินและเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ก็ยังมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ไม่น้อย องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 650,000 คนต่อปี และประมาณ 90% ของผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ คือผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยว่าปกติการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกจะสูงที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม เพราะเป็นช่วงการระบาดใหญ่ของประเทศซีกโลกเหนือ โดยข้อมูลจาก WHO รายงานว่าต่อสัปดาห์จะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สูงถึงหลายหมื่นจนถึงมากกว่าแสนราย ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์ว่าฤดูกาล 2023/2024 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่า 25 ล้านราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 280,000 ราย และเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มากกว่า 17,000 ราย

ขณะที่สถิติไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ปี 2566 กรมควบคุมโรคพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 480,000 ราย เสียชีวิต 29 ราย และต้นปี 2567 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 17 กุมภาพันธ์ 2567 พบผู้ป่วย 63,648 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งสูงกว่าการระบาดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร ทำให้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดหนักสุดในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ยิ่งไปกว่านั้น โรคไข้หวัดใหญ่ยังก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศจากภาระโรคทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง รวมถึงประชาชนต้องขาดรายได้จากการหยุดงาน สูงถึงปีละ 1,100 – 3,000 ล้านบาท

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวย้ำเตือนว่าไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นตัวนำร่องสู่โรคร้ายแรงและอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่จะสามารถเข้ามาโจมตีระบบทางเดินหายใจ ทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจหรือเข้าไปกระตุ้นการอักเสบให้มากขึ้น และยังไปรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้จากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในคอหอยของทุกคน อาทิ ปอดอักเสบ ภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจวาย หรือไตวาย โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดในทุกกลุ่มอายุ คือ เด็ก คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

  • ในกลุ่มเด็ก อาจจะมีอาการรุนแรงในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0–4 ปี อายุ ส่วนเด็กอายุ 5–14 ปี จะเป็น Super Spreader ที่มักจะนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากโรงเรียนมาแพร่สู่สมาชิกในครอบครัว 
  • ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจจะมีอาการรุนแรงมากซึ่งรวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคมะเร็งหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคไต เป็นต้น

สำหรับคนหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัว หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาการอาจจะไม่ค่อยรุนแรง แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัว ยิ่งหากมีผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวก็อาจส่งผลเสียที่รุนแรงตามมาได้หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่

ฉะนั้นวิธีการป้องกันโรคด้วย ‘การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ถือว่ามีความปลอดภัยและคุ้มค่าทางการแพทย์มากที่สุด และได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกกว่า 80 ปี จึงมีความมั่นใจในประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง แนะนำให้ฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง โดยสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้ทันที ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย ลดโรคแทรกซ้อนรุนแรง ลดการนอนโรงพยาบาล และลดการสูญเสียชีวิตได้ หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ร่างกายจะใช้เวลากระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มีคำแนะนำว่าทุกคนควรจะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่

  1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (standard dose) มีปริมาณแอนติเจน 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ
  2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) มีปริมาณแอนติเจนมากกว่าขนาดมาตรฐานถึง 4 เท่า จากการศึกษาพบว่าลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน ร้อยละ 24.2 ลดการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 64.4 และลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9 นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสการติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่น เสี่ยงต่อการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิได้ดีกว่าขนาดมาตรฐาน โดยอาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากกว่าขนาดมาตรฐานเล็กน้อย

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจที่ระบาดทุกปี ตลอดทั้งปี แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันโรคที่คุ้มค่า คุ้มทุน และปลอดภัยมากที่สุด สามารถป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี เริ่มฉีดได้ทันที ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ก่อนถึงฤดูฝนไปจนถึงตุลาคมของทุกปี ปีละ 1 ครั้ง โดยปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวัคซีนที่เหมาะสม

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือทางเพจของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่