“รมว.พิมพ์ภัทรา” เดินหน้าชุมชนเปลี่ยน RESHAPE THE AREA ประเดิมเปิดศูนย์แปรรูปสมุนไพรยาเส้น เมืองนครศรี โมเดลต้นแบบเสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก

247

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เปิดศูนย์การเรียนรู้ “การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น” โมเดลต้นแบบชุมชนเปลี่ยน ผลสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) พร้อมเร่งขยายผลครอบคลุมชุมชนทุกภูมิภาคภายในปีนี้ คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งยกระดับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมรับมือกับรูปแบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศเพื่อสร้างรายได้ผ่านการสนับสนุน Soft Power จูงใจนานาประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน การเปิดตลาดประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างเต็มความสามารถจึงจำเป็นต้องยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเติมเต็มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในท้องที่ต่าง ๆ

ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งขับเคลื่อนการเสริมศักยภาพและพัฒนาชุมชนด้วยการผลักดันให้ธุรกิจชุมชนเติบโตตามบริบทอุตสาหกรรมใน 2 มิติ ได้แก่ การพัฒนาคนให้มีทักษะด้านอุตสาหกรรมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เติบโตไปพร้อมกัน และการพัฒนาผู้นำทางธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจในชุมชน ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ “การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น” ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกรในชุมชนให้เกิดการดำเนินงานทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนกลายเป็นชุมชนเปลี่ยน (Community Transformation) และสามารถต่อยอดสู่การเป็นชุมชนดีพร้อมที่มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนจากชุมชนและพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนมิใช่เพียงเฉพาะราย ตลอดจนเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง หรือ Big Brother โดยเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชนด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพของชุมชนในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายสร้างต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคภายในปี 2567

“ดิฉันมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็น “ชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม” ซึ่งจะเป็นโมเดลในการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะทำให้เกิดการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การกระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้ “การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น” เป็นโมเดลต้นแบบของชุมชนเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการทำงานสอดประสานกันระหว่างด้านเทคโนโลยี โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงในด้านการยกระดับทักษะธุรกิจชุมชน โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ในบริบทปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) เพื่อสร้างชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งยึดศักยภาพชุมชนที่ฐานการพัฒนา ส่งเสริมทักษะด้านอุตสาหกรรมที่จำเป็น อาทิ การพัฒนาทักษะการประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมมาตรฐานการผลิต/ผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี การส่งเสริมการตลาด การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการชุมชน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในโซ่อุปทาน ภายใต้แนวคิด “คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม”

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ “การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น” ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมขนอื่น ๆ ที่สนใจ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อมยังได้มีการดำเนินกิจกรรม “การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์” ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เป็นการนำร่องชุมชนที่ 2 หลังจากที่ได้มีการนำร่องที่ชุมชนเปลี่ยนเป็นที่แรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ด้วยการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ แนวคิด และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ซึ่งจะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนผนวกเข้ากับแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ มาประยุกต์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรภายในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายในการนำร่องพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ในปี 2567 จำนวน 20 ชุมชนทั่วประเทศ นายภาสกร กล่าว