ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการ อาทิ การส่งออกที่ชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่เริ่มโตติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 30 เดือน โดยเท่ากับ -2.1% ในเดือนมิถุนายน (ที่มา:Toyota Motor Thailand: ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่สะสมเดือน ม.ค.- มิ.ย. 2562 ขยายตัวได้ 7.1%) รวมถึงผลจากการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้มงวดขึ้นและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้หดตัว 36.9% (ที่มา: BAM) ในขณะเดียวกันแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐโครงการใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไป ปัญหาด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรหลักยังตกต่ำต่อเนื่องอีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อพื้นที่เกษตรกรรมเป็นบริเวณกว้าง เป็นต้น สำหรับด้านปัจจัยบวกที่มี อาทิ มาตรการภาครัฐด้านการควบคุมราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าสินไหมทดแทนของประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลลงได้ อีกทั้งโอกาสในการขยายตลาดด้วยกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่ภายใต้นโยบายของภาครัฐ เช่น ประกันเหมืองแร่ ประกันลำไย ประกันเรือประมง เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมองถึงการแข่งขันของบริษัทประกันวินาศภัยในช่วงครึ่งหลัง ด้านการประกันภัยทรัพย์สินยังคงมีแนวโน้มการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นไปตามภาวะตลาดประกันภัยทรัพย์สินทั่วไปและในช่วงปีหลังๆ ไม่มีมหันตภัยรุนแรง ส่งผลให้อัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกมีแนวโน้มคงที่หรือลดลงในช่วงเวลาที่เหลือของปี ส่วนตลาดลูกค้ารายย่อยนั้นคาดว่ากลยุทธ์การตลาดที่เด่นชัดคือการแสวงหาพันธมิตรใหม่เพื่อจำหน่ายประกันภัยให้กับฐานลูกค้าของพันธมิตรผ่านช่องทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชัน อาทิ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการรับส่งสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้จะได้เห็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะเจาะจงตรงตามความต้องการและพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ทำให้มีค่าเบี้ยประกันภัยที่ถูกลง ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทประกันภัยต่างๆ เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าให้อยู่ในรูปแบบ Big Data และจัดทำ Data Analytics เพื่อคัดเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีศักยภาพในการขยายตลาด
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ งวด 6 เดือนของปี 2562 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 9,707.2 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 มีกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 510.7 ล้านบาท รายได้สุทธิจากการลงทุน 870.9 ล้านบาท และมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 1,381.6 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้วบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,258.2 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และมีกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 11.82 บาท
นอกจากนี้ เพื่อให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2562 ที่ 20,000 ล้านบาทนั้น บริษัทฯ มีแนวทางด้านการขยายเบี้ยประกันภัยดังนี้คือ การออกผลิตภัณฑ์ Package ใหม่ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม มีความคุ้มครองและระดับราคาที่เหมาะสมกับลูกค้าเป้าหมาย ล่าสุดบริษัทฯได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย 3 โรคกวนใจที่คุ้มครองโรคไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก และโรคร้ายจากยุง ขยายงานประกันภัยในต่างจังหวัดโดยจะจัดตั้งสาขาใหม่อีก 3 สาขาที่จังหวัดสมุทรสาคร สุพรรณบุรี และลำปาง ภายในไตรมาส 4 นี้ รวมทั้งการพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายสาขาหรือสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ การให้ความสำคัญกับการสร้าง Engagement กับลูกค้าและคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง โดยนำระบบ CRM มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น จัดทำแผนเยี่ยมเยียนลูกค้า คู่ค้า งานต่ออายุ การจัดแคมเปญการขาย ตลอดจนการสร้างทัศนคติและอบรมพัฒนาให้พนักงานทำหน้าที่เป็น Risk Consultant หรือ Business Partner กับลูกค้าและคู่ค้ามากกว่าการเป็นเพียง Insurer ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีแรกนี้บริษัทฯ มีอัตราการต่ออายุของกรมธรรม์อยู่ในระดับสูงถึง 83%
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและพัฒนาการให้บริการทั้งด้านรับประกันภัยและสินไหมทดแทนเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในยุคดิจิตอล โดยนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการให้บริการลูกค้าที่โทรเข้ามาแจ้งอุบัติเหตุและทำเคลมรถยนต์ทางโทรศัพท์ โดยการนำ Robot มาช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงานด้านรับประกันภัยเพื่อให้บริการที่รวดเร็วขึ้น ล่าสุดบริษัทฯอยู่ในช่วงพัฒนาปรับเปลี่ยน Core Business System (CBS) เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต