สสส.-มสส.จับมือสื่อมวลชนขอนแก่น แบงค์ชาติภาคอีสานและตำรวจ ประชุมแก้ปัญหาหลอกลวงออนไลน์ แฉขอนแก่นถูกมิจฉาชีพหลอกติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศแจ้งความคดีออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 6,000 เรื่อง มูลค่าเสียหาย 200 กว่าล้าน เฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 30%แถมพนันออนไลน์ก็รุกหนัก ความเสียหายทั้งประเทศจากมีนาคม 2566 ถึงปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2,700 ล้านบาท ชี้ควรเป็นวาระแห่งชาติ บูรณาการทุกหน่วยแก้ปัญหา สร้างการรู้เท่าทันแก่ประชาชน พร้อมเสนอห้ามทำ CSR พนันออนไลน์กับหน่วยงานภาครัฐ
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 กันยายน 2566 ณ ห้องมงกุฎทอง โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับสื่อมวลชนในขอนแก่นและสื่อมวลชนภาคอีสาน จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป หัวข้อ “ภัยออนไลน์รุกหนักขอนแก่น-อีสาน … ไม่จัดการอาจวิกฤต !” โดยมี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุน สสส. กล่าวเปิดการประชุมว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็วมีทั้งผลดีและผลเสียไปพร้อมๆกัน เพราะข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นและรวดเร็วหากเราไม่มีความรู้หรือไม่รู้เท่าทันย่อมตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีและมิจฉาชีพได้ทุกเมื่อ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DES) สรุปสถิติการดำเนินคดีอาชญากรรมออนไลน์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2565 ว่ามีการดำเนินคดีกับแก๊ง call Center ในต่างประเทศ 8 ครั้ง ปิดกั้นการโทร หลอกลวงและส่งSMSหลอกลวงจำนวน118,530 หมายเลข อายัดบัญชีม้าจำนวน 58,463 บัญชีและปิดกลุ่มSocial Media ซื้อขายบัญชีม้า 8 กลุ่ม ดำเนินคดีหลอกลวงลงทุนและระดมทุนออนไลน์และหลอกลวง ทางการเงิน 657 คดี การปราบปรามพนันออนไลน์โดยดำเนินคดีได้ 318 คดี และการดำเนินคดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ 263 คดี สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปี 2565 ที่ พล. ต. อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการปฏิบัติการ Fat Fast ทลายเครือข่ายพนันออนไลน์ใน จ.ขอนแก่น ที่มีประชาชนร้องเรียนว่ามี 3 เว็บพนันออนไลน์ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ใช้บริการกว่า 50,000 คน กำไรวันละ 2 ล้านบาท เปิดมา 2 ปีมีกำไรกว่า 800 ล้านบาท จากนั้นมีการขยายผลตรวจค้น 52 จุดใน 10 จังหวัด ปรากฏว่า นอกจากกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สระแก้ว และเชียงรายแล้วที่เหลือเป็นจังหวัดในภาคอีสานทั้งหมดคือขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ และอุดรธานี ซึ่งสะท้อนความรุนแรงของปัญหาในภาคอีสานได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการประชุมโฟกัส กรุ๊ป ในหัวข้อ “ภัยออนไลน์รุกหนักขอนแก่น-อีสาน … ไม่จัดการอาจวิกฤต ! ” ในวันนี้จึงมีความสำคัญทั้งการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ของปัญหา การระดมความคิดเห็นและสร้างการรู้เท่าทัน การป้องกันและลดผลกระทบของประชาชนจากการถูกหลอกลวงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยสสส. ยินดีสนับสนุนบทบาทของสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่จะร่วมมือกับ มสส.และหน่วยงานต่างๆในการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนร่วมกัน
นางพรนิภา สินโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้แจ้งผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน Call Center 1213 ของ ธปท. ในภาคอีสาน ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่าภัยการเงินเพิ่มขึ้นกว่า 30% ส่วนใหญ่เป็นการหลอกให้กู้เงินออนไลน์มากที่สุด รองลงมาเป็นหลอกซื้อขายของออนไลน์โดยได้รับสินค้าไม่ตรงปกหรือโอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า มีการหลอกแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ เช่น กรมที่ดิน การไฟฟ้าฯ และกรมสรรพากร เป็นต้น ส่วนวิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ คือ ไม่คลิกลิงก์ ไม่รับสายที่ไม่รู้จัก ไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ ถ้าตกเป็นเหยื่อแล้วให้ตั้งสติ หยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที แล้วรีบโทรไปที่ call center hotline 24 ชั่วโมง ของธนาคารที่เรามีบัญชีเงินฝาก หรือธนาคารสาขาภายในเวลาทำการ เพื่อรับ Bank Case ID แล้วนำไปแจ้งความพร้อมหลักฐานที่สถานีตำรวจ เพื่อสืบสวน สอบสวนและออกหมายอายัดบัญชี ต่อไป ปัจจุบัน ธปท. ได้ออกแนวนโยบายมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำ ให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการป้องกัน ได้แก่ ให้ธนาคารงดส่งลิงก์ ปิดกั้น SMS/เบอร์ Call center ที่อ้างแบงก์ ให้ใช้ 1 บัญชี 1 อุปกรณ์ แจ้งเตือนก่อนโอน ปรับปรุงระบบ Mobile Banking ยืนยันตัวตนด้วย Biometrics กำหนดเพดานเงินการถอน การโอน การตรวจจับ ได้แก่ กำหนดเงื่อนไข และมีระบบตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ การตอบสนองและรับมือ ได้แก่ Hotline 24 ชั่วโมง การสนับสนุนข้อมูลให้ตำรวจ และรับความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของสำนักงาน นอกจากนี้ ธปท. ได้สื่อสารและรับให้คำปรึกษา แก่ประชาชน ให้รู้เท่าทันกลโกง รู้จักวิธีป้องกัน แจ้งเตือนภัยประชาชน เพื่อลดอันตรายจากภัยดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนและเครือข่ายสื่อสารในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความรู้ทางการเงินและการวางแผนทางการเงินกับเด็กและเยาวชนด้วย
พ.ต.อ.ไพโรจน์ ไทยพุทรา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าสถิติการรับแจ้งความทางออนไลน์จากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติล่าสุดตั้งแต่ 17 มีนาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน มีผู้แจ้งความคดีออนไลน์กว่า 30,000 เรื่อง ความเสียหายเกินกว่า 2,700,000,000 บาท เฉลี่ยมากกว่า 400 เรื่องต่อวัน ซึ่งแม้จะเป็นสถิติที่ลดลง ภายหลังจากมีการบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นถือว่ามีความรุนแรงเพราะมีผู้แจ้งความคดีออนไลน์กว่า 6,000 เรื่อง สร้างความเสียหายกว่า 200,000,000 บาท และเป็นพื้นที่ซึ่งมีความผิดเกิดขึ้นติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงซื้อสินค้าและบริการ จากแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook สูงถึง 51% ตามด้วย Instagram มีการจูงใจ หว่านล้อม อาทิเช่น การหลอกลวงขายสินค้าราคาถูก โปรโมชั่น หรือสินค้าแบรนด์แนมในราคาต่ำกว่าท้องตลาดโดยทั่วไป ทำให้เหยื่อที่มีความต้องการซื้อ พอใจและจูงใจให้หลงเชื่อข้อความหลอกลวงนั้น แล้วให้ผู้เสียหายโอนเงินมัดจำหรือจ่ายเงินก่อนทำการจัดส่งสินค้า แล้วไม่สามารถติดต่อได้ ทางตำรวจและหน่วยงานต่างๆจึงรณรงค์ประชาสัมพันธ์เตือนภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆทั้งการจัดอบรมสัมมนาแก่นักเรียนเพื่อกระจายความรู้ให้ผู้ปกครองและคนในครอบครัว รวมถึงหน่วยงานราชการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และประชาสัมพันธ์การทดสอบความรู้ป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่เรียกว่าวัคซีนไซเบอร์ ชิงรางวัลโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักรู้เตือนภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและรูปแบบกลโกงต่างๆ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ขณะนี้สามารถเปิดบัญชีธนาคารในแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้แล้ว โดยไม่ต้องไปธนาคาร จึงอยากจะฝากธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยหาวิธีการป้องกันปัญหาที่จะตามด้วย
ดร.ชวลิต กงเพชร ผู้อำนวยการสถาบันแบ่ง-ปัน-ญา นักวิชาการที่สนใจปัญหาการพนันออนไลน์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวว่า การพนันออนไลน์ถือเป็นการหลอกลวงทางออนไลน์ที่สร้างความเสียหาย ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในภาคอีสานในสามจังหวัด คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น หันมาเล่นพนันออนไลน์กันแพร่หลายซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ มีความรุนแรงมาก แต่ผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกมาคือ การขายสลาก 2 ตัว 3 ตัว ผ่านระบบออนไลน์ หรือที่ผู้คนเรียกจนติดปากว่าหวยออนไลน์นั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนคำพูดและพยายามทำให้เห็นเป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็ทำกัน ทั้งๆที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ โดยโน้มน้าวให้เห็นว่ามีผลตอบแทนมหาศาลมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายพันเท่า การพนันออนไลน์จึงเป็นวิธีการหาเงินที่คนยุคใหม่สนใจกระโดดเข้าไปทำอย่างมาก มีการเปิดรับสมัครคนคีย์หวย ในกลุ่มรับสมัครงานทั่วไป เป็นภัยร้ายที่กำลังทำลายทุกระบบของเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ผลที่ตามมามีทั้งปัญหาสังคม ยาเสพติด และอาชญากรรม ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลหรือทุกฝ่ายควรจะเร่งดำเนินการในทางนโยบายคือการสร้างแรงจูงใจและการเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อของคนรุ่นใหม่ต่อการประกอบอาชีพและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ของคนรุ่นใหม่เพื่อมาทดแทนแรงจูงใจในการเข้าไปเล่นการพนันออนไลน์ นอกจากนี้ จะต้องให้ความรู้หรือสร้างการรู้เท่าทันถึงเทคนิค วิธีการของกลุ่มธุรกิจทำพนันออนไลน์เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง โดยเฉพาะการทำ CSR หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งมีผู้ว่าราชการบางจังหวัดถ่ายรูปร่วมกับผู้ที่ทำธุรกิจพนันออนไลน์ โดยมีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม ซึ่งเรื่องนี้ สสส. และภาคีควรจะผลักดันให้มีข้อห้ามในการทำ CSR กับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬาผ่านสถาบันการศึกษาและชุมชนต่างๆ แม้กระทั่งเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล สนับสนุนงานวิ่ง งานกีฬา สามารถนำลิงก์พนันออนไลน์ แปะไว้กับงานต่างๆได้
นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ทั้งการเงินและเรื่องอื่นๆในจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานยังรุนแรง ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพมีการปรับตัวและรุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาไปถึงการใช้ AIหรือ Artificial Intelligence คือปัญญาประดิษฐ์ในการหลอกลวงในขณะที่ประชาชนในภาคอีสานยังไม่ใส่ใจในเรื่องนี้มากนัก แต่ต้องชื่นชมธนาคารแห่งประเทศไทยภาคอีสานเป็นหน่วยงานแรกที่ตระหนักถึงการหลอกลวงทางการเงินออนไลน์โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจและรณรงค์ มีการประสานงานกับตำรวจแม้ระยะแรกกฎหมายยังไม่เอื้อ สับสนเรื่องกระบวนการดำเนินคดี ตำรวจยังอายัดบัญชีไม่ได้ ส่วนธนาคารก็อายัดบัญชีไม่ได้ จนกระทั่งมีการออกพระราชกำหนดใหม่ล่าสุดทำให้การดำเนินคดีทำได้อย่างรวดเร็วธนาคารสามารถอายัดบัญชีได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนการพนันออนไลน์เป็นขบวนการที่เชื่อมโยงกัน จังหวัดขอนแก่นมีเครือข่ายใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลและมีตำรวจนอกแถวเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างล่าสุดจับพนันออนไลน์ที่กรุงเทพมหานครปรากฏว่าเชื่อมโยงมาที่จังหวัดขอนแก่นเช่นกัน ส่วนปัญหาอุปสรรคที่สำคัญคือส่วนราชการต่างๆทำงานเป็นแท่ง ต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการกัน ในขณะที่ตำรวจโรงพักก็ไม่มีตำรวจที่เชี่ยวชาญเรื่องไซเบอร์ เรื่องนี้ต้องรณรงค์เป็นวาระระดับชาติจนถึงจังหวัด ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาคไปจนถึงโรงพัก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ควรมีนโยบายที่ชัดเจน เช่น มีการเสนอให้จังหวัดขอนแก่นเป็น Smart City แต่ในแผนจังหวัดก็ไม่ได้บรรจุเรื่องป้องกันการหลอกลวงทางการเงินออนไลน์เอาไว้ในยุทธศาสตร์จังหวัด ขณะเดียวกันต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทัน หรือ Smart People ด้วย ส่วนบทบาทสื่อมวลชนในจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทยภาคอีสาน พร้อมเสนอว่าการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการให้ความรู้กับประชาชน ด้านเทคโนโลยีรวมทั้งการสร้างการรู้เท่าทันสื่อและรู้เท่าทันภัยจากดิจิทัล และเปลี่ยนแปลงค่านิยมการสะสมความมั่งคั่ง รวยเร็วของเด็กและเยาวชน จึงจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้
ทางด้านสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นว่า สื่อเองก็ตระหนักว่าเรื่องการหลอกลวงออนไลน์เป็นเรื่องที่สำคัญ และอยากจะขอให้มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบแถลงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสื่อจะได้นำข้อมูลไปประชาสัมพันธ์ต่อประชาชน และการลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับประชาชน ขอให้ใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย
นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวขอบคุณและปิดการประชุมว่า การจัดประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมพลังสื่อมวลชนไทย สร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ภัยออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญมากและมีความท้าทายเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และถือเป็นภัยคุกคามซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้คนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน และเสียหายจากการสูญเสียเงินท่ามกลางวิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทางเศรษฐกิจ กระแสความเจริญก้าวหน้าของโลกออนไลน์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้นทำให้เรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ได้กลายเป็นดาบ 2 คม ที่มิจฉาชีพได้อาศัยสิ่งเหล่านี้มาเป็นช่องทาง และเครื่องมือในการโจรกรรม ซึ่งทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยช่วยกันทั้งเครือข่ายมือถือ ธนาคาร ตำรวจ แพลตฟอรม์ในสื่อโซเชี่ยลต่างๆ กระทรวง DES ศูนย์ดำรงธรรม ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนด้วยเพื่อช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลให้คนในสังคมรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม และมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆเพื่อปกป้องสิทธิของคนในสังคม