ทฤษฎีการพังถล่มของสะพานและบทเรียนที่ได้รับ

234

จากเหตุการณ์สะพานพังถล่มระหว่างการก่อสร้างตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่และซากสะพานที่ถล่มลงมา เพื่อรวบรวมข้อมูลและตั้งสมมุติฐานสาเหตุที่เป็นไปได้ในทางวิชาการ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ นำไปสู่สมมุติฐานทฤษฎีการพังถล่มของสะพาน โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1. จุดตั้งต้นหรือโดมิโนตัวแรก 2. สมมุติฐานสาเหตุของการพังถล่ม และ 3. บทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 จุดตั้งต้นหรือ โดมิโนตัวแรก คือจุดตั้งต้นของการพังถล่ม เนื่องจากการพังถล่มเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรง โดยเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งก่อน แล้วลุกลามไปสู่ส่วนอื่นๆเป็นทอดๆ จนโครงสร้างทั้งหมดถล่มลงมา สำหรับในประเด็นนี้ คาดว่าน่าจะเกิดจากการพังถล่มของคานสะพานก่อน จากนั้นนำไปสู่การพังทลายของเสาต้นกลาง ทำให้โครงเหล็กเสียจุดรองรับและร่วงลงมา และดึงรั้งให้เสาต้นหน้าหักลงมาในท้ายที่สุด

ประเด็นที่ 2 ข้อสมมุติฐานสาเหตุการพังถล่ม ในประเด็นนี้มีการตั้งสมมุติฐานไว้เป็น 2 แนวคิด โดยแนวคิดแรกเห็นว่า การวิบัติเกิดขึ้นในขณะดึงลวดอัดแรง ซึ่งขั้นตอนนี้จะสร้างแรงอัดมหาศาลเข้ากับตัวสะพาน ทำให้เกิดการวิบัติของคอนกรีตที่บริเวณรอยต่อ (Wet Joint) ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดอ่อน เพราะขณะนั้นคอนกรีตอาจจะยังพัฒนากำลังรับน้ำหนักไม่เต็มที่ เมื่อรอยต่อพังทลาย ก็จะทำให้เกิดการกระจายแรงมหาศาลไปสู่บริเวณอื่นแทน ซึ่งเกินกว่าที่สะพานจะรับน้ำหนักได้ จึงเกิดการพังทลายต่อเนื่องไปในลักษณะคล้ายการล้มของโดมิโน (Domino Effect)

ส่วนแนวคิดที่สองเห็นว่า ตำแหน่งจุดรองรับของโครงเหล็ก (Launcher) ที่ตั้งอยู่บนสะพานคอนกรีตอาจจะไม่เป็นไปตามแบบ หรือโครงเหล็กมีการเคลื่อนที่ไปในตำแหน่งที่ไม่ได้มีการคำนวณ หรือรีบเคลื่อนที่ไปก่อนที่จะดึงลวดอัดแรงครบถ้วน เลยทำให้บางจังหวะ โครงเหล็กอาจจะไปเหยียบบนปลายยื่นของสะพานหรือตำแหน่งอื่นที่สร้างแรงดัดมหาศาลในคานสะพาน จนทำให้ทั้งคาน และ เสาหัก จากนั้นโครงเหล็กจึงร่วงตามลงมา

การจะสรุปสาเหตุที่แท้จริงว่าจะเป็นตามแนวคิดใด หรืออาจจะเป็นร่วมกันทั้งสองแนวคิด หรืออาจจะมีแนวคิดอื่นๆอีกหรือไม่ ต้องอาศัยหลักนิติวิศวกรรมศาสตร์ (Forensic Engineering) โดยเป็นการวิเคราะห์ย้อนกลับจากซากอาคาร แล้วเชื่อมโยงกับข้อมูลต่างๆ ได้แก่ แบบ รายการคำนวณ ขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนการเคลื่อนที่ของโครงเหล็ก ตลอดจนคุณภาพของวัสดุที่ใช้ เช่น คอนกรีต ลวดอัดแรง และอื่นๆ

ประเด็นที่ 3 บทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้ คือ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงและอันตรายในทุกขั้นตอนของการก่อสร้าง หลักปฏิบัติทางวิศวกรรมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการก่อสร้างนั้นมีอยู่แล้ว แต่อาจมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้และการตรวจสอบ ในปัจจุบันยังมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ลักษณะนี้อีกมาก และการพังถล่มแบบนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้อีก ในเชิงนโยบาย ภาครัฐจึงควรร่วมมือกับภาควิชาชีพ สร้างกลไกการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอย่างจริงจัง เช่น การจัดให้มีคณะผู้ตรวจอิสระ ที่มีความรู้และอำนาจในการเข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด อีกทั้งต้องเอาจริงกับผู้ที่ย่อหย่อนไม่ปฏิบัติตามหลักวิศวกรรมและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ต้องยึดถือเอาความปลอดภัยของสาธารณะเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินโครงการ