โรงพยาบาลกรุงเทพ ห่วงใยผู้สูงอายุ ป้องกันการลื่นหกล้ม พร้อมร่วมรณรงค์ให้บุตรหลานช่วยกันระวัง เนื่องในวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนนี้ “อย่าให้สูงวัยล้ม เดี๋ยวไม่ลุก” จากสถิติคาดว่าปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ พบว่าประชากรผู้สูงอายุไทยยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และบางส่วนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำและแต่งตัวเองไม่ได้ มากถึงร้อยละ 5 ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ย่อมกลายเป็นภาระกับคนใกล้ชิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้านคือ กระดูกสะโพกแตกหัก และอุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราการความพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงสถิติจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อปี 2561 พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 10,666,803 คน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 66,413,979 คน คิดเป็นร้อยละ 16.06% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึงปีละ 1,600 คน ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ รองจากอุบัติเหตุทางถนน 1 ใน 3 เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยความเสี่ยงในการบาดเจ็บจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุการบาดเจ็บ ปัญหาที่พบบ่อยใน “ผู้สูงอายุ” ที่ได้รับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหัก ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง สาเหตุของอุบัติเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือการหกล้ม เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65-75 ปี
นพ.ประณต นิพัทธสัจก์ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้จากการหกล้มของผู้สูงอายุคือ การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Traumatic Brain Injury) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดคั่งในสมองที่สูงขึ้น ผู้สูงอายุที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะจึงควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์
นพ.เอกจิต ศิขรินกุล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สร้างความทรมานในการใช้ชีวิตคือ กระดูกหัก คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากระดูกหักเพราะ “อุบัติเหตุ” แต่กระดูกหักในผู้สูงอายุนั้นมีภัยเงียบที่เป็นสาเหตุหลักของกระดูกหักคือ “โรคกระดูกพรุน” เพราะไม่พบอาการใดๆ มาพบอีกทีเมื่อล้มแล้วเกิดกระดูกหักขึ้น ข้อมูลเมื่อปี 2542 พบว่า อุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุไทยสูงขึ้นจากปีละ 180 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย เป็น 450-750 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย ภายในปี 2568 และจากการศึกษาของ Cooper et al ในปี 2540 พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 20% จะเสียชีวิตภายใน 1ปี โดย 40% ไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ และมากถึง 80% ขาดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง โดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม ร้ายแรงที่สุดก็คือ 20% ของผู้สูงอายุหกล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก อาจมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักจึงจำเป็นต้องได้รับการป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย
พญ. ธันยาภรณ์ ตันสกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้นการกายภาพและฟื้นฟูร่างกายโดยทีมสหสาขา จะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้เร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว ลดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเข้ารักษาซ้ำ(re-admission)
พญ.พัณณิดา วัฒนพนม ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภายในรพ.กรุงเทพ มีรพ.ชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพระยะฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดและต้องการฟื้นฟูทำกายภาพบำบัด โดยจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุและเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัด ให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ภาวะโภชนาการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมถึงสุขภาพร่างกาย จิตใจ แบบองค์รวม เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีส่วนร่วมในสังคมได้ดีขึ้น พร้อมด้วยห้องพักผู้ป่วย ที่เป็นสัดส่วน สะอาด ทันสมัย ออกแบบฟังค์ชั่นการใช้งาน โดยคำนึงถึงผู้ป่วยในระยะพักฟื้นโดยเฉพาะ