สัมภาษณ์พิเศษ พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

1057

สลากกินแบ่งรัฐบาลกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ สลากกินแบ่งรัฐบาลแบบตัวเลข 6 หลัก (L6) และสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบตัวเลข 3 หลัก (N3) โดยที่ประชุมได้สั่งการให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปจัดทำร่างประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ เพื่อนำมาเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณสลากที่เหมาะสม ช่วงเวลาในการจำหน่าย ช่องทาง และวิธีการจำหน่าย  เพื่อพิจารณาต่อไป creative econ” สัมภาษณ์พิเศษ “พันโท หนุน ศันสนาคม” ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อธิบายรายละเอียดภารกิจของสำนักงานสลากฯ การแก้ไขปัญหาสลากราคาแพง และแนวคิดเกี่ยวกับการออกสลากรูปแบบใหม่ แบบเห็นภาพในรายละเอียดแบบชัดเจน

ภารกิจหลักของสำนักงานสลากฯต้องทำอะไรบ้าง?

ภารกิจหลักของสำนักงานสลากฯคือหาเงินเข้ารัฐ ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2562 ในกฎหมายเขียนชัดเจนว่า สำนักงานสลากมีวัตถุประสงค์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ             (1) ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลหรื่อสิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ และ (3) กระทำการอันใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

การพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นๆต้องเป็นสิ่งพิมพ์ของหน่วยงานรัฐหรือเปล่า?

ทั้งของรัฐบาลและเอกชนได้หมด เป็นอำนาจของคณะกรรมการสลากฯ ในการพิจารณา ที่ผ่านมา ก็มีรับจ้างพิมพ์ตั๋วม้วนรถเมล์ ขสมก. พิมพ์สลากกาชาดของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งต้องนำเสนอการดำเนินงานเป็นขั้นตอน แต่อาจจะไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่ว่าเราทำได้ ถ้าคณะกรรมการสลากฯ อนุมัติ

จำนวนการพิมพ์สลากฯในแต่ละงวด?

ปัจจุบันเต็มกำลังการผลิต คือ 100 ล้านใบ เป็นการพิมพ์สลากรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีรูปแบบเดียว แต่ถ้าพูดถึงสลากในโลกจะมี 5 รูปแบบ 2 ประเภท รูปแบบแรกคือสลากแบบดั้งเดิม ซึ่งเราใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยบนสลากเป็นตัวเลขที่กำหนดไว้แล้ว ให้ผู้ซื้อมาเลือกซื้อตัวเลขนั้น ๆ มีรางวัลที่ระบุไว้ชัดเจน จำนวนตัวเลขตั้งแต่ 000000-999999 มี 6 หลัก เริ่มตั้งแต่ 000000, 000001,000002 จนถึง 999999 และมีแค่ 1 ล้านหมายเลขเท่านั้น ผู้ซื้อก็จะมาซื้อใน 1 ล้านหมายเลข และรางวัลที่ออกก็จะมีระบุไว้ชัดเจนคือ รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล รางวัลที่ 2 จำนวน 3 รางวัล รางวัลที่ 3 จำนวน 20 รางวัล รางวัลที่ 4 จำนวน 50 รางวัล และรางวัลที่ 5 จำนวน 100 รางวัล รางวัลเลขท้าย 2 ตัว เลขท้าย 3 ตัว เลขหน้า 3 ตัว อันนี้คือรูปแบบสลากแบบดั้งเดิม ปัจจุบัน 1 ล้านหมายเลข เท่ากับ 1 ชุด สำนักงานสลากฯ พิมพ์แบบนี้ทั้งหมด 100 ชุด เป็นที่มาของสลาก 100 ล้านใบ รางวัลที่ 1 แต่ละงวด 600 ล้านบาท เพราะว่ามี 100 ใบ ใบละ 6 ล้าน เท่ากับ 600 ล้านบาท

รูปแบบที่ 2 เรียกว่าสลากดิจิต(Digit)  หรือเกมแบบตัวเลข หมายถึงว่าจะเป็น 2 หลัก 3 หลัก 4 หลัก 5 หลัก 6 หลัก แต่ว่าเจ้าของไม่ได้กำหนดตัวเลขไว้ ผู้ซื้อจะต้องมาเลือกซื้อเอง คือกำหนดเอง 2 หลักก็ได้ 3 หลักก็ได้ 4 หลักก็ได้ รางวัลจะแปรผันไปตามจำนวนคนซื้อและคนถูก ที่เราคุ้นชินคือสลากแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว       แต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน บางประเทศเป็นแบบ 4 หลัก บางประเทศเป็น 6 หลัก ในส่วนของเงินรางวัลจะเป็นแบบแปรผัน ส่วนจะสมทบไปในงวดถัดไปหรือไม่สมทบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รูปแบบที่ 3 ลอตโต (Lotto)  ที่เราเคยเห็นในต่างประเทศ ที่มีผู้ถูกรางวัลได้รับเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งลอตโตก็แล้วแต่ประเภท แต่รูปแบบหลักคือมีลูกบอล ยกตัวอย่างเช่น มี 46 ลูก ลูกที่ 1 หมายเลข 1 ลูกที่ 2 หมายเลข 2 ลูกที่ 3 หมายเลข 3 ไล่ไปจนถึงลูกที่ 46 หมายเลข 46 โดยลูกบอลอยู่ในภาชนะ จับลูกบอลมา 6 ลูก แล้วแต่วิธีการของแต่ละประเทศ บางประเทศ 5 ลูก จับขึ้นมาไม่เรียงลำดับ การจับ 6 ลูก ผู้ซื้อสามารถซื้อ 6 หมายเลข  ไม่ต้องเรียงลำดับ ขอให้ถูกทั้ง 6 หมายเลข ก็จะได้รางวัลแจ๊คพอต  ซึ่งถูกยากมาก ถ้าไม่ถูกก็สะสมรางวัลไปเรื่อย ๆ จนเงินรางวัลมีจำนวนมากมายหลายหมื่นล้าน

รูปแบบที่ 4 เกมที่ออกรางวัลไว้ล่วงหน้า ที่เห็นชัด ๆ คือสลากแบบขูด หรือในอดีตเคยทำสลากคุ้มเกล้า เพื่อหารายได้ให้กับโรงพยาบาลภูมิพล สมมุติออกสลากมา 100 ใบ ใน 100 ใบมีรางวัลที่ออกไว้แล้ว 10 ใบ เป็นต้น

รูปแบบที่ 5 เกมกีฬาทุกประเภท ในต่างประเทศสลากประเภทนี้ ในการแทงผลการแข่งขันฟุตบอล ม้า มวย บาสเก็ตบอล ว่ายน้ำ ฯลฯ

สลากในโลกนี้มี 5 รูปแบบเท่านั้น อยู่ที่แต่ละประเทศจะนำแบบไหนไปทำ ส่วนที่ว่ามี 2 ประเภทคือ ประเภทสะสมเงินรางวัล กับ ไม่สะสมเงินรางวัล อยู่ที่วิธีการของประเทศนั้นๆ จะทำแบบไหน สำหรับของเราที่ทำอยู่คือไม่สะสมเงินรางวัล

สลาก 100 ล้านใบขายหมดทุกงวดไหม?

ขายหมดทุกงวด เพราะมีตัวแทนรับไปหมด ตอนนี้เรามีตัวแทน 2 ระบบ คือตัวแทนไม่มีสัญญาผูกมัด  เริ่มทำเมื่อปี 58 อยากขายก็มาจองสิทธิทำรายการ ถ้าไม่อยากขายก็ไม่ต้องมาทำรายการ อีกแบบหนึ่งคือโควตา ปัจจุบันเหลือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ คือ 50 ล้านใบ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นของรายย่อย 25 เปอร์เซ็นต์เป็นของมูลนิธิ องค์กรกรกุศลที่เกี่ยวกับผู้พิการ 800 กว่าแห่ง

ทำไมต้องออกสลากฯดิจิทัล?

ปัจจุบันสลากของประเทศไทยเป็นรูปแบบดั้งเดิม โดยการออกผลิตภัณฑ์แบบพิมพ์เป็นใบๆ ซึ่งเต็มกำลังการผลิตแล้วคือ 100 ล้านใบ เราจึงขออนุมัติจาก ครม. ทำสลากรูปแบบดิจิทัลที่ไม่ต้องพิมพ์ ซึ่งทุกวันนี้เราพิมพ์ 100 ล้านใบเสร็จก็ตัดส่วนหนึ่งที่เป็นใบสแกนเข้าสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งดิจิทัลที่เราทำทุกวันนี้ก็คือรูปแบบเดิม เพียงแต่เพิ่มช่องทางในการขายเท่านั้นเอง แต่ถ้าสามารถทำเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ คือไม่ต้องตัดส่วนที่เป็นใบจริงๆสแกนเข้าในระบบ จะช่วยให้เพียงพอกับความต้องการ และแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาแบบยั่งยืน

แก้ได้อย่างไร?

เราต้องยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ค้าสลากไม่เคยขายในราคากำหนดเลย เราพยายามแก้ปัญหานี้มานาน จนในปี 2558 เรารู้ว่าปัญหาของการขายเกินราคาคือ ประการแรก การที่คนขายไม่สามารถเข้าถึงการเป็นตัวแทนโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ คือรับสลากไปโดยตรงไม่ได้ ต้องไปผ่านคนโน้นคนนี้ ประการที่สอง ในเรื่องของราคากำไรต่อใบ เขาบอกว่าได้น้อย ก่อนปี 2558 ได้กำไรใบละประมาณ 4 บาท เมื่อเรารู้สองปัญหานี้ ในปี 2558 ก็เลยแก้ไข วิธีการแก้ไข อันที่หนึ่งคือการเข้าถึง สำนักงานสลากฯ จัดโครงการที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันคือการซื้อจองผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย เรียกว่า “โครงการซื้อจองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล”  ในตลาดเรียกว่า หวยเสรี แต่เดิมไม่มีระบบนี้ จะมีแต่แบบโควตา หรือเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งบางคนได้เป็นพันเล่มก็มี บางบริษัทได้ไปเป็นหมื่นเล่ม พอปี 2558 เราตัดหมดเลย รายย่อยที่เคยได้คนละ 100 เล่ม 1,000 เล่ม ให้เหลือรายละ 5 เล่มเท่ากันหมด  สมาคม องค์กร เมื่อก่อนมี 2,000 กว่าแห่ง เราก็มาดูสมาคมที่ไม่เกี่ยวกับผู้พิการ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,200 แห่ง เราตัดทิ้งหมด ให้เหลือแต่สมาคม องค์กรมูลนิธิ ที่เกี่ยวกับผู้พิการเท่านั้น  ปัจจุบันเหลือ 800 กว่าแห่ง เป็นสมาคม องค์กรที่เกี่ยวกับผู้พิการทั้งสิ้น ส่วนสลากที่เหลือจากการถูกถูกตัดสิทธิทั้งหมด นำมารวมในระบบซื้อจอง ให้คนเข้ามาสมัคร แล้วทำรายการซื้อจอง เพื่อได้รับสิทธินำสลากไปขายต่อ เป็นการกระจายถึงมือคนขายโดยตรง ผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย แต่เดิมทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มกับเคาน์เตอร์ธนาคาร  ปัจจุบันยกเลิกการกดผ่านตู้เอทีเอ็มเพราะว่ามีปัญหามาก เหลือแค่ทำรายการผ่านแอพฯ เป๋าตัง

การแก้ปัญหาของเราในครั้งนั้น ทำให้คนขายสลากเข้าถึงระบบอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะปี 2559 เป็นการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดในยุค คสช. จากผลของโพล ผลงานรัฐบาลที่ประชาชนพึงพอใจในลำดับต้นๆ คือการแก้ไขปัญหาสลาก เนื่องจากคนขายเข้าถึงโดยตรง ทำให้สามารถขายในราคา 80 ได้จริง กดแล้วนำไปขายต่อได้โดยไม่ต้องผ่านคนอื่น

วิธีแก้ไข้ อันที่ 2 เราได้เพิ่มกำไรต่อใบให้เขา จากเดิมได้ใบละ 4 บาทกว่า เงินเข้ารัฐ เราก็เฉือนเนื้อในส่วนที่ต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐ นำมาเพิ่มให้เป็นใบละ 9.60 บาท จนถึงทุกวันนี้ แต่ถามว่าปัจจุบันทำไมยังมีการขายเกินราคา เนื่องจากด้วยตัวสินค้า ท้ายสุดคือมีจำกัด ขณะที่คนขายเกิดขึ้นทุกวัน ตกงานบ้าง เปลี่ยนอาชีพบ้าง พอคนขายเพิ่มมากขึ้น แต่สินค้าเท่าเดิม ก็เลยมีการขายช่วง จากคนที่เคยเข้ามาจองซื้อแล้วนำไปเดินขายตามสถานที่ต่างๆ ปรากฏว่ามีคนอยากขายแต่หาสลากไม่ได้ มาขอเหมา ยกเล่มหมดเลย ให้ราคาใบละ 90 บาท เป็นใครก็อยากขาย  จึงเกิดกลไกนี้ขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ เราก็ต้องแก้ เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วคือโครงการสลากดิจิทัล เพราะปัญหานี้เกิดจากของมีปริมาณจำกัด ความต้องการซื้อไม่แน่ใจว่าเพิ่มหรือเปล่า แต่ความต้องการขายสูงขึ้น ทำให้เกิดการขายช่วง ซึ่งเป็นปัญหาจากตัวผลิตภัณฑ์  ซึ่งกำลังการผลิตของเราเต็มกำลังแล้ว

แนวคิดของเราในเบื้องต้นคือ การนำสลากที่เป็นใบจริงๆเข้ามาในระบบดิจิทัล เพื่อให้เกิดการขายส่งต่อคนอื่นไม่ได้ ใครที่กดจองสิทธิได้แล้วก็นำสิทธินั้นมาให้เรา เป็นการนำสลากมาฝากกับเรา เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องไปเดินขาย แต่ขายผ่านระบบดิจิทัลแทน ได้กำไร 9.60 บาทเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วิธีนี้จะทำให้เขาไม่ต้องนำสลากไปเดินขายตามสถานที่ต่างๆ แต่ด้วยส่วนต่างที่เขายังรู้สึกว่าเวลามีคนมาเหมาซื้อให้กำไรมากกว่า 9.60 บาท แถมมีเท่าไหร่เหมาหมด เรียกว่ารับสลากไปแล้วขายหมดทันที แถมได้กำไรดีกว่า ก็เลยทำให้ช่วงแรกผู้ขายไม่สนใจเข้ามาในระบบดิจิทัล ผู้ขายที่อยู่ในระบบซื้อจองแสนกว่าคน กับระบบโควตาอีก 3 หมื่นกว่าคน แต่เข้ามาในระบบดิจิทัลไม่ถึงพันคน เพราะว่าเขาคิดว่าขายส่งได้มากกว่า หรือบางคนอาจจะอยากขายแบบเดิมก็ได้ เราก็เลยต้องเปิดให้คนภายนอกเข้ามา ซึ่งมีคนสมัครมาเก้าแสนกว่าคน ใช้วิธีแรนดอมจับสลากคัดเลือก ทุกวันนี้เลยมีผู้ขายเข้ามาในระบบสลากดิจิทัลเยอะขึ้น ปัจจุบันมี 18 ล้านใบกระจายอยู่ในระบบดิจิทัล แต่ว่าเราก็ต้องดึงมาจากสลากจริงที่เป็นใบ คือเข้ามาในระบบดิจิทัล 18 ล้านใบ เหลือเป็นสลากจริงที่ขายตามแผงต่างๆ 82 ล้านใบ นี่คือสาเหตุที่ต้องทำสลากดิจิทัล และยืนยันว่าสลากดิจิทัลเราไม่ได้ขายเอง เป็นของตัวแทนทั้งนั้น นำมาฝากขายผ่านระบบของสำนักงานสลากฯ รายได้ทุกใบเข้าสู่รายย่อยหมด และไม่ต้องเสียค่าฝาก ได้ 9.60 บาทเท่าเดิม ซึ่งก็ช่วยบรรเทาปัญหาการขายส่งไปได้แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องเพิ่มในเรื่องของความต้องการขาย ตอนนี้เรายังต้องดึงใบจริงมา เพราะฉะนั้นยังจำกัด เราจึงจำเป็นต้องขอ ครม.เรื่อง สลากกินแบ่งรัฐบาลแบบตัวเลข 6 หลัก (L6) รูปแบบดิจิทัล ไม่ต้องพิมพ์ ไม่ต้องไปยุ่งกับระบบใบจริง ส่วนที่พิมพ์ก็ขายแบบเป็นใบจริง ส่วนในระบบดิจิทัลก็ทำของตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน  เลยเป็นที่มาของการเสนอ L6 เป็นสลากดิจิทัลแบบไม่ต้องพิมพ์ เพื่อให้เราเพิ่มจำนวนได้โดยไม่ต้องไปยุ่งกับใบจริง ถามว่าขายแข่งกับใบจริงไหม ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคว่าจะเลือกแบบไหน ซึ่งในยุคนี้เราก็รู้กันว่าคนหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้คนเข้าถึงและใช้เป็นมากขึ้น ปัจจุบันมีคนใช้แอพฯ เป๋าตัง 40 ล้านคน ใครอยากขายสลากดิจิทัล ส่งข้อมูลเข้ามา เราพร้อมพิจารณาและเปิดทางให้ ทั้งคนเก่า คนใหม่ ในขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้สลากราคามาตรฐาน เพราะไม่มีการขายต่อจนเกิดการอัพราคาขึ้นจากที่กำหนด

เท่ากับว่าสลากฯดิจิทัลจะดำเนินการได้โดยไม่จำกัดปริมาณ?

ดิจิทัลเป็นตัวเลขที่กำหนดขึ้นมา ตราบใดที่มีคนขาย ตราบใดที่มีคนซื้อ ก็ไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคนใหม่อยากขายก็ขายได้ แต่จะมีคนซื้อหรือเปล่าอีกเรื่อง แต่เป็นการแก้ปัญหาจำนวนสลากที่มีจำกัด สองคือเปลี่ยนมือไม่ได้ คำว่าเปลี่ยนมือไม่ได้คือ ปัจจุบันที่เป็นใบ คนเอาไปขาย ก็ขายส่งต่อได้ แต่ถ้าเป็นดิจิทัล ตัวแทนในระบบ ไม่สามารถนำโควตาไปขายต่อได้ เพราะว่าด้วยระบบข้อมูลบัตรประชาชน อย่างไรก็ตาม สลาก L6 ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ซื้อได้ทั้งหมด เพราะเป็นรูปแบบเดิม เช่น ต้องการเลขนี้ แต่ปรากฏว่าหมดแล้ว ก็ไม่สามารถซื้อได้ แล้วจะตอบโจทย์ความต้องการอย่างไร เราจึงต้องเสนอสลากดิจิทัลแบบตัวเลข 3 หลัก (N3) เข้าไปด้วย

N3 คือสลากแบบไหน?

อย่างที่บอกแล้วว่า L6 เราต้องการทำเพื่อแก้ปัญหาการนำสลากไปขายส่งต่อให้กับผู้ที่มาเหมาจากคนที่ได้รับสิทธิ แต่ L6 ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อทั้งหมด เพราะยังเป็นตัวเลขที่เรากำหนดไว้แล้ว และให้ผู้ซื้อมาเลือกซื้อ หมดแล้วหมดเลย แต่ N3 คือรูปแบบเกมตัวเลขหรือเกมดิจิต ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ด้วยตัวเองเลย เอาง่ายๆที่คนไทยคุ้นชินคือสลากแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว  ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อได้ด้วยตัวเอง โดยรางวัลไม่คงที่ ผันแปรไปตามจำนวนผู้ซื้อและจำนวนคนถูก ถ้าคนซื้อมากจำนวนรางวัลก็น้อยลง ถ้าคนซื้อน้อยรางวัลก็มาก  อย่างไรก็ตาม เราจะการีนตีขั้นต่ำว่าถ้าถูกแล้วจะได้ไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ ซึ่งถ้าตัวเลขนั้นมีคนซื้อน้อยรางวัลก็จะมากกว่านั้น วัตถุประสงค์หลักของการทำ N3 คือ นอกจากแก้ปัญหาสลากเกินราคาแล้ว ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้เลขที่ต้องการ ในราคายุติธรรม ปัจจุบันบางคนอยากได้เลขที่ตัวเองฝัน คนขายๆ 300 บาทก็ต้องกัดฟันซื้อ แต่ระบบใหม่ไม่ต้อง อยากได้เลขไหนซื้อได้เลย ราคาคงที่

รูปแบบ N3 เป็นอย่างไร?

รูปแบบที่เราเสนอ ครม. คือซื้อหนึ่งหมายเลขมีโอกาสถูก 4 รางวัลคือ  1.สามตัวตรง สมมุติซื้อ 123 ออก 123 ได้เลย 2. สามตัวโต๊ด 3. สองตัวตรง และ 4.แจ๊กพอต หมายถึงว่าคนที่ถูกสามตัวตรง สมมุติมี 100 คน จะมีคนหนึ่งได้แจ๊กพอต   สาเหตุที่คิดสูตรนี้คือนอกจากการแก้ปัญหาสลากเกินราคาแล้ว ยังต้องการให้เกมมีความสนุกด้วย ซึ่งรูปแบบสลาก N3 เป็นรูปแบบที่คนไทยคุ้นชิน ไม่ต้องอธิบายมาก นอกจากนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เลือกซื้อแค่เลขท้ายเป็นหลัก รางวัลใหญ่เป็นของแถม

N3 ตอบโจทย์ผู้พิการอย่างไร?

สินค้าตัวนี้ ตอบโจทย์ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส คนที่อยากมีอาชีพจริงๆ เช่น เราให้โควตา 1,000 รายการ คุณก็มีสลากขายตามโควตานั้นจริงๆ การให้โควตาก็เพื่อความเหมาะสม และจำกัดการมอมเมา  ปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายแห่งทำสลากดิจิทัล แต่ถ้าเขาไม่ได้เป็นตัวแทน เขาจะไปเอาสินค้าจากไหน ก็ต้องไปกว้านซื้อ ทำให้เกิดต้นทุนสูงขึ้น รับมาแพงก็ต้องขายแพง เช่น ประกาศขาย 80 บาท แต่บวกค่าบริการ 20 บาท เพราะว่าคุณซื้อมาในราคา 95 บาทจะขายในราคา 80 บาทได้ยังไง ซึ่งเราก็แจ้งความไว้แล้วว่ามีการขายเกินราคา แค่บิดคำพูดเท่านั้นเอง ถามว่าจะทำไปทำไม ในเมื่อเราก็ขายได้ปกติ เพราะรัฐต้องการสร้างอาชีพให้คน สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อแบบไหน เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามการขายสลากดิจิทัล

สลากกินแบ่งต่างกับสลากกินรวบอย่างไร?

สลากกินแบ่ง จะต้องแบ่งสัดส่วนเงินที่ใช้จ่ายอย่างชัดเจน ในกฎหมายระบุว่า 100 เปอร์เซ็นต์ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินรางวัล 23 เปอร์เซ็นต์เข้ารัฐ 17 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าดำเนินการ ใบหนึ่ง 80 บาท 48 บาทคือเงินรางวัล เข้ารัฐ 20 กว่าบาท ส่วนสลากกินรวบไม่มีการแบ่งสัดส่วน กฎหมายกำหนดให้เราทำได้แค่สลากกินแบ่ง

ประเด็นที่อยากฝากถึงประชาชน

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดเป็นการให้ข้อมูลและความรู้ ไม่ใช่การโฆษณา เพราะตามกฎหมายห้ามสำนักงานสลากโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจในการซื้อ เพื่อต้องการให้คนไทย ละ เลิก การพนัน สลากอยู่ในบัญชีการพนันประเภท ข แต่ทำได้เพราะได้รับการยกเว้นให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่ห้ามโฆษณา ยกเว้นการให้ความรู้ เพราะฉะนั้นที่ผมพูดคือการให้ความรู้ ความเข้าใจ กับประชาชน กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม