Plant Factory…เทรนด์ใหม่ด้านการเกษตรของโลกที่น่าจับตา

3511
ภาพ : อินเตอร์เน็ต

จากปัญหาการทำการเกษตรในปัจจุบันที่ต้องเผชิญข้อจำกัดต่างๆ ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่ทางการเกษตรที่มีจำกัด ตลอดจนปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ล้วนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรที่ยากต่อการควบคุม

ดังนั้น เทคโนโลยีการผลิตพืชสมัยใหม่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากคือ โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) จึงเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นการผลิตพืชในรูปแบบใหม่ที่เป็นระบบปิด ซึ่งสามารถควบคุมการปลูกพืชได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งสภาพแสง ความชื้น อุณหภูมิ แร่ธาตุ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต

รวมถึงสามารถกระตุ้นให้พืชหลั่งสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์บางอย่างที่ต้องการ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้เป็นไปตามที่ต้องการได้และมีความสม่ำเสมอ มีมาตรฐานสูง ด้วยการใช้แสงไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสง เนื่องจากให้ความร้อนน้อยกว่าและประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนส์ และยังสามารถเลือกสีของแสงได้ตามความต้องการของพืช ทำให้พืชมีสารที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานได้ดี นับเป็นเทรนด์การปลูกพืชรูปแบบใหม่ของโลกที่น่าสนใจในการที่ไทยจะนำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับภาคเกษตรของไทยในอนาคต

โรงงานผลิตพืช เป็นเทรนด์ของโลกด้านการเกษตรสมัยใหม่ที่หลายประเทศให้ความสนใจมากขึ้น จากการควบคุมการผลิตได้ด้วยเทคโนโลยี อีกทั้งเป็นการปลูกพืชในระบบปิด ทำให้ปราศจากโรคและแมลง ปลอดสารเคมี ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้โรงงานผลิตพืชเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่หันมารักสุขภาพด้วยการบริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี ผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมสารอาหารต่างๆ เช่น ผักกาดขาวโพแทสเซียมต่ำ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง เป็นต้น ตลอดจนสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ทำให้คาดว่าโรงงานผลิตพืชจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากในปี 2561 มูลค่ายอดขายของตลาดโรงงานผลิตพืชของโลกอยู่ที่ราว 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 11.0 ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีจำนวนโรงงานผลิตพืชทั่วโลกราว 400 แห่ง โดยมีญี่ปุ่น เป็นผู้นำของเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช ด้วยการครองตลาดในสัดส่วนเป็นอันดับ 1 กว่าร้อยละ 20.0 ของมูลค่าตลาดโรงงานผลิตพืชทั่วโลก ซึ่งญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตพืช 200 แห่ง ตามมาด้วยไต้หวัน 100 แห่ง จีน 50 แห่ง สหรัฐอเมริกา 25 แห่ง เกาหลี 10 แห่ง และสิงคโปร์ 2 แห่ง

สำหรับความสำเร็จโรงงานผลิตพืชของผู้เล่นหลักอย่างญี่ปุ่น น่าจะมาจากประชากรญี่ปุ่นนิยมบริโภคพืชผัก ผลไม้ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย เนื่องจากสภาพพื้นที่ของประเทศมีจำกัด อีกทั้งการขยายตัวของเมือง รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง ทำให้การขนส่งพืชผักผลไม้จากนอกเมืองเพื่อมาในเมืองมีโอกาสปนเปื้อนมลพิษต่างๆ ญี่ปุ่นจึงหันมาปลูกผักในเมืองมากขึ้น โดยพืชที่นิยมปลูกคือ ผักกาดหอม ผักโขมญี่ปุ่น มินต์ ใบโหระพา มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งโรงงานผลิตพืชจะใช้แสงไฟเทียม และที่สำคัญคือกว่าร้อยละ 25 ของโรงงานผลิตพืชนี้มีกำไรสูงถึงร้อยละ 50 เพราะการใช้หลอดไฟ LED ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานค่อนข้างมาก

แม้โรงงานผลิตพืชจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตพืชรูปแบบใหม่ที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย ด้วยพื้นที่ทางการเกษตรที่มีมากกว่า 138 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43.0 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้โรงงานผลิตพืชเพิ่งได้รับความสนใจในไทยไม่นานนักและยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ที่ราว 3.0 ล้านบาท ผนวกกับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ยังจำกัดในเฉพาะกลุ่มอย่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่ได้ดำเนินการในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ แต่จะเป็นการผลิตเพื่อรองรับการใช้ในหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เช่น การผลิตสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงงานผลิตพืชของไทยอาจไม่เหมาะกับการปลูกพืชเกษตรทั่วไป เนื่องจากไทยผลิตได้จำนวนมากอยู่แล้ว

ดังนั้น โรงงานผลิตพืชของไทยในที่นี้จึงต้องเน้นไปที่กลุ่มพืชมูลค่าสูง ที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ (High-end Product) อย่างกลุ่มพืชสมุนไพร และกลุ่มพืชที่สามารถนำมาสกัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะสอดรับกับการสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมากถึง 5 อุตสาหกรรมคือ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวสุขภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 โดยใช้เขตพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC โดยมี Biopolis ใน EECi เป็นแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างฐานรายได้ใหม่และความยั่งยืนให้กับประเทศ โดย Biopolis เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย จะทำการศึกษาและวิจัยเพื่อให้ได้สารประกอบที่นให้ผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค/อาหารเสริมและเวชสำอาง (Functional Ingredient/Nutraceutical) รวมถึงชีวการแพทย์/ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biomedical/Biopharma) เช่น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พืชที่ควรนำมาปลูกในโรงงานผลิตพืชจะต้องเป็นพืชที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ อาทิ กลุ่มพืชสมุนไพร นับว่าเป็นกลุ่มพืชศักยภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตของตลาดที่ดี เนื่องจากไทยมีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรเพียงร้อยละ 0.02 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ อันจะเป็นการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อเป็นการทดแทนการนำเข้าในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาทต่อปี และในระยะข้างหน้าจะยังเป็นการขยายตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี หรือมากกว่าร้อยละ 40 เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่มีรองรับจำนวนมาก จากกระแสรักสุขภาพ รวมถึงการที่สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น และได้รับการส่งเสริมจากแผนพัฒนาสมุนไพรของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง