การประชุม APEC Thailand 2022 นอกจากการเตรียมงานในด้านต่างๆ แล้ว การจัดเตรียมของขวัญ ของที่ระลึก สำหรับผู้นำ และแขกพิเศษของเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมก็เป็นอีกหนึ่งส่วนงานสำคัญ ที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและมอบความประทับใจให้กับผู้มาเยือน ภายใต้แนวคิดหลัก BCG ( Bio-Circular-Green Economy Model)
โดย เทพรัตน์ สงเคราะห์ หรือ โอ เทพรัตน์ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวัฒนธรรมในนามรัฐบาลให้เป็นผู้สร้างสรรค์และผลิตของขวัญในวาระพิเศษนี้ เพื่อมอบให้กับผู้นำ คู่สมรส และแขกพิเศษของเขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นชุดของขวัญหลัก มีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ ภาพดุนโลหะ “รัชตะแสนตอก” กล่องใส่เครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” และชุดเครื่องผ้า “จตุราภรณ์” ที่ประกอบไปด้วยผ้าคลุมไหล่ “รติระหง” หน้ากากอนามัย “สุขารมณ์” เน็คไท “ศักยบุรุษ” และผ้าเช็ดหน้า “ผกาพักตร์”
จับความเป็นไทยที่ปราณีตทรงคุณค่ามาใส่ความเป็นปัจจุบันที่งามสง่าโก้หรู
โอ เทพรัตน์ กล่าวว่า “ผมตั้งชื่อโครงการว่า ของขวัญจากราชอาณาจักรไทย ซึ่งโดยชื่อแล้วย่อมแสดงถึงว่า ของขวัญทุกชิ้นที่จะถูกรังสรรค์ต้องมีรากเหง้ามรดกภูมิปัญญาจากราชอาณาจักรไทยอันงดงามแห่งนี้ ที่ไม่เพียงจะสร้างความประทับใจให้กับผู้นำทุกชาติแล้ว แต่ของทุกชิ้นต้องคู่ควรค่ามากประโยชน์ที่จะได้ถูกนำไปใช้สอย หรือเผยแพร่สู่สาธารณะในงานครั้งนี้ และต่อเนื่องไปยังประเทศนั้น ๆ ซึ่งนั่นหมายถึงการถ่ายทอดเอกอัตลักษณ์ไทยสู่สายตาชาวโลกนับหลายร้อยล้านคน”
ไฮไลท์ของการออกแบบของขวัญชุดนี้อยู่ที่ “ชะลอมโมโนแกรม” ที่พัฒนาจากรูป ‘ชะลอม’ ตราสัญลักษณ์การประชุมเอเปค ร้อยเรียงเป็นลายประจำยามหนึ่งในอัตลักษณ์ลายไทยพื้นฐาน สื่อถึงการค้าที่อยู่บนพื้นฐานค่านิยมเชิงวัฒนธรรมที่ดีงาม ลวดลายหลักที่จะประกอบกับการออกแบบจัดทำบนวัสดุรีไซเคิลเกือบ 100% ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ แก่นสารหลักของการจัดประชุมในครั้งนี้
ละเอียดอ่อนในชิ้นงานลึกซึ้งในแนวคิด
ของขวัญจากราชอาณาจักรไทยถูกรังสรรค์จัดทำขึ้นมาสามชุด ได้แก่
1. ภาพดุนโลหะ “รัชตะแสนตอก”
ความงดงามเรืองรองของพระบรมมหาราชวังและกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค อันสง่าภูมิอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่เด่นก้องไกลไปทั่วโลก ที่มองจากประชุมกองทัพเรืออันเป็นสถานที่จัดเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการแก่ผู้นำที่เข้าร่วมประชุม
กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่นำมาสร้างสรรค์ผ่านฝีมือดุน (ตอก) เงิน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดมากกว่า 700 ปี บนพื้นหลังลายนูนต่ำ กรอบตอกด้วยลายพื้นเมืองล้านนา บนวัสดุโลหะ (รัชตะ) รีไซเคิลสีเงิน ด้วยการตอกนับแสนครั้งต่อหนึ่งภาพ จึงเป็นที่มาของชื่อภาพ “รัชตะแสนตอก”
ภาพดุนโลหะ รัชตะแสนตอก ขนาดกว้าง 25 ซม. ยาว 55 ซม. ลึก 2 ซม. ผลิตจากโลหะรีไซเคิลสีเงิน 100% พร้อมโครงกรอบรูปด้านในทำจากแผ่นไม้ยางพารารีไซเคิลผ่านการฆ่าเชื้อตามมาตรฐานการส่งออก จัดทำสำหรับผู้นำและแขกพิเศษของเขตเศรษฐกิจ รวม 25 ชิ้น
กล่องใส่เครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก”
ด้วยแนวคิดที่ว่า ผู้นำคือผู้สร้าง คู่สมรสเปรียบดังผู้รักษา และเครื่องวัตถุตั้งแต่ยุคการค้าของโลกเก่าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการเก็บรักษาคือหีบหรือกล่อง กล่องใส่เครื่องประดับสำหรับคู่สมรสผู้นำเอเปค ได้รับแรงบันดาลใจจากพันธะหน้าที่ของคู่สมรสผู้นำที่เป็นผู้เก็บรักษาทั้งทรัพย์และความอบอุ่นในครอบครัว เป็นงานดุนโลหะด้วยมือทั้งชิ้นบนแผ่นโลหะรีไซเคิลสีเงิน เดินลวดลายตอกนูนต่ำ ด้วยการตอกนับหมื่นครั้งต่อหนึ่งชิ้นงาน
กล่องใส่เครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” นี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นของขวัญสำหรับคู่สมรสของผู้นำ จำนวน 25 ชิ้น ผลิตจากโลหะรีไซเคิลสีเงิน 100% มีขนาดกว้าง 13 ซม. ยาว 23 ซม. ลึก 5 ซม. ลายหลักลักษณ์สัญลักษณ์เอเปค ดุนนูนด้วยเทคนิคการดุนโลหะด้วยมือ บนพื้นหลังลวดลายชะลอมโมโนแกรมที่จัดทำด้วยเทคนิคการกัดกรดโลหะนำร่องก่อนตอกย้ำลวดลายให้เด่นชัดด้วยมือ ด้านในบุด้วยผ้าไหมทอมือสีแดงชาด
ชุดเครื่องผ้า “จตุราภรณ์”
ด้วยแนวคิดการทำชุดเครื่องใช้จากผืนผ้าไหมไทยพื้นบ้านภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่สืบสานยาวนานให้สามารถใช้ร่วมกับยุคสมัยกับประโยชน์ใช้สอย ผู้สร้างสรรค์จึงคัดเลือกผ้าไหมปักธงชัยที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้ง มาพิมพ์ลายประจำยาม “ชะลอมโมโนแกรม” แล้วนำไปออกแบบตัดเย็บเป็นเครื่องใช้จากผ้าประเภทต่าง ๆ ตามยุคสมัย โดยเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนแนวคิดหลักด้วยการร้อยต่อผ้าจากเส้นใยรีไซเคิลของโลหะประกายสีทองรุ่งโรจน์กับปลายผ้าคลุมไหล่ แต่งชายด้วยลูกปะเกือมสีเงินที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแห่งจังหวัดสุรินทร์ ปิดปลายด้วยผ้าทอแบบทวิตจากเศษผ้าไทยเหลือทิ้ง แสดงให้เห็นถึงการผสานงานผ้าไหมและวัฒนธรรมไทยกับประโยชน์ใช้สอยและแนวคิดร่วมสมัยได้อย่างลงตัวงดงาม
ชุดเครื่องผ้า “จตุราภรณ์” เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าสำหรับผู้นำเอเปค จำนวน 25 เซ็ต ในแต่ละเซ็ต ประกอบไปด้วยงานผ้า 4 แบบ ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่ “รติระหง” ขนาดกว้าง 30 ซม. ยาว 180 ซม. หน้ากากอนามัย “สุขารมณ์” ขนาดกว้าง 8 ซม. ยาว 12 ซม. เน็คไท “ศักยบุรุษ” ขนาดกว้าง 6 ซม. ยาว 120 ซม. และผ้าเช็ดหน้า “ผกาพักตร์” ขนาดกว้าง 20 ซม. ยาว 20 ซม.
โดยชุดของขวัญทั้งหมดถูกบรรจงบรรจุในกล่องที่ทำจากไม้ยางพารารีไซเคิลด้านในบุด้วยผ้าสักหลาดสีทองแชมเปญ ฝากล่องติดโลหะสีเงินตัดฉลุลายตราสัญลักษณ์ APEC 2022
คณะทำงานที่มีผลงานระดับโลก
คณะทำงานสร้างสรรค์ของที่ระลึกสำหรับผู้นำ คู่สมรส และแขกพิเศษของเขตเศรษฐกิจ ดำเนินการภายใต้แนวทางและการกำกับดูแลโดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่
- เทพรัตน์ สงเคราะห์ ผู้บริหารสูงสุด ผู้สร้างสรรค์และหัวหน้าคณะนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ผู้มีผลงานกำกับการแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งแรกของโลกบนกำแพงเมืองจีน โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นมีผลงานที่ได้รับการบันทึกลงกินเนสส์บุ๊ก 2 ครั้ง จัดงานให้กับแบรนด์ระดับโลก อาทิ VAN CLEEF & ARPELS, CHANEL, GIORGIO ARMANI นักสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า 2,000 ชุมชน 10,000 ผลิตภัณฑ์ นักเขียนเบสต์เซลเลอร์ผู้ได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารเปรียวให้เป็นหนึ่งในสิบอัจฉริยะของประเทศในฐานะนักคิดและนักเขียน
- วรวิทย์ นัยสำราญ ผู้บริหารโครงการ
- นฤภัทร บูรณวนิช ผู้จัดการโครงการ
- สล่าดิเรก สิทธิการ ครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม (การดุน สลักเงินและโลหะ) ผู้ดำเนินการผลิตงานดุนโลหะ ครูช่างด้านศิลปกรรม ผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาไทย 700 ปี การดุนเงิน และ โลหะแห่งชุมชนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่
- สิฐ ธนะชัย จรียะนา ที่ปรึกษาอาวุโสด้านแฟชั่นและผู้ผลิตชุดผ้าจตุรภรณ์ เจ้าของแบรนด์ 27 FRIDAY
- เจนณรงค์ ไชยสิงห์ ส่วนสร้างสรรค์และออกแบบลวดลายกราฟฟิก บริษัท ไม้หน้าสาม
- โชษณ ธาตวากร ผู้สร้างสรรค์เส้นใยผ้าจากโลหะรีไซเคิล ที่มีผลงานทำเส้นใยพิเศษให้กับแบรนด์ดังระดับโลกเช่น Louis Vuitton และ Cartier
- ฮิโตชิ ฟูนาดะ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์
ความภูมิใจในผลงานอันทรงคุณค่า
โอ เทพรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานสร้างสรรค์ของขวัญจากราชอาณาจักรไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงชุดของขวัญที่จัดทำขึ้นว่า “โจทย์ที่ยากของงานนี้มีสามเรื่อง หนึ่งคือ การผสานคุณค่าดั้งเดิมแห่งวัฒนธรรมไทยเข้ากับความร่วมสมัยที่่โก้หรู ใช้งานได้จริง สองคือการเล่าเรื่องประเทศไทยผ่านลวดลายในพื้นที่ไม่กี่ตารางเซ็นติเมตร สามคือการนำทั้งสองเรื่องมาวางให้สวยงามลงตัวบนวัสดุรีไซเคิลอย่างสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการจัดการประชุมครั้งนี้ เราใช้เวลาเตรียมการกว่าสามเดือน และ จัดทำให้เสร็จทุกชิ้นงาน 75 ชุด รวม 175 ชิ้นงาน ในเวลาแค่หนึ่งเดือน ทั้งหมดเป็นงานทำมือทำให้มีความยากในเรื่อง QC ที่ของขวัญทุกชิ้นจะต้องมีความเหมือนหรือคล้ายกันมากที่สุด เราลงพื้นที่มากกว่า 20 ครั้ง เพื่อทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับชุมชน ใช้เวลาทำงานรวมไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง เราเสาะหาอย่างละเอียดจนได้พบกับทีมสร้างสรรค์มืออาชีพในทุกเจนเนอเรชั่นอีกหลายท่าน ทั้ง พี่โชษณ แห่งแบรนด์ AUSARA ผู้ทำวัสดุชนิดพิเศษเส้นใยรีไซเคิลจากโลหะให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เช่น หลุยส์ วิตตอง และ คาร์เทียร์ พี่สิฐ ชนะชัย นักออกแบบแฟชั่นระดับตำนานแห่งแบรนด์ 27 FRIDAY สล่าดิเรก บรมครูแห่งงานดุนเงินของประเทศ รวมถึงน้องๆ ทีมไม้หน้าสาม นักออกแบบรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตเหรียญทองของสถาปัตยกรรมจุฬา ฯ และ การสนับสนุนอย่างดีของกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยองค์ประกอบอันยอดเยี่ยมทั้งหมดทำให้งานสำเร็จด้วยดีในเวลาที่กำหนด … แม้ผมจะผ่านงานสร้างสรรค์ระดับโลกมามากมายแต่สำหรับงานนี้เป็นความภูมิใจมากที่สุดงานหนึ่ง ภูมิใจที่ได้เห็นผู้มาเยือนที่เป็นผู้นำระดับโลกชื่นชอบของขวัญจากราชอาณาจักรไทย ภูมิใจที่ได้มีส่วนสร้างรายได้ให้ชุมชน และที่ภูมิใจที่สุดคือได้มีส่วนสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในวิถีการบริโภคของคนในปัจจุบันได้ทั้งในประเทศและผู้คนทั่วโลก…”
ประวัติ“โอ เทพรัตน์”
“โอ เทพรัตน์” หรือ เทพรัตน์ สงเคราะห์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์สร้างสรรค์ และบริหารโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลและเอกชน มีผลงานการสื่อสารการตลาดและงานสร้างสรรค์กิจกรรมทางการตลาดระดับโลก และ มีผลงานที่ได้รับการบันทึกลงในกินเนสส์บุ๊กถึง 2 ครั้ง เขาเคยทำงานให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน รับผิดชอบงานโครงการตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับนานาชาติ มาแล้วหลายโครงการ โดยโครงการที่รับผิดชอบมีมูลค่าสูงสุดถึง 2 พันล้านบาท
นอกจากงานด้านสื่อสารการตลาดและงานสร้างสรรค์กิจกรรมทางการตลาดแล้ว โอ เทพรัตน์ ยังเป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรผู้นำขององค์กรยั่งยืนอันดับหนึ่งของโลกหลายองค์กร เป็นนักคิด นักเขียน นักอภิปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างแนวคิด “ธุรกิจจิตสาธารณะ” ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมโฆษณาและแฟชั่นของประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบอัจฉริยะของประเทศในฐานะนักคิดและนักเขียนอีกด้วย ผลงานล่าสุดของโอ เทพรัตน์ คือการสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนโดยทุนวัฒนธรรมและทุนชุมชน สำหรับผลิตภัณฑ์ CCPOT (Community Cultural Product of Thailand) ระดับเพชร อันได้แก่ ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย กระจกลิเก ชุดโนราราตรี ปูนปั้นเพชรอาลัว กระเป๋าเรซิ่นตีนจก ฉากใหญ่ ช็อกโกแลตทุเรียนนนท์ แมวไทยกวักมงคล ชุดมวยไทยฤดูหนาว และ เก้าอี้เงินแสนตอก ที่ใช้งานฝีมือดั้งเดิม ค่าและคุณค่าจากภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาจัดทำเป็น ของกินของใช้ และ เครื่องตกแต่งร่วมสมัย เพื่อให้วัฒนธรรมไทยดำรงอยู่ได้ผ่านห่วงโซ่การบริโภคของยุคสมัยปัจจุบัน