ดีพร้อม (DIPROM) โดยกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งปูพรมถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกทักษะการแปรรูปผลไม้ไทย 3 ชนิด มะม่วง ฝรั่ง และอะโวคาโดให้แก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs ราว 700 คน ในพื้นที่ปลูก14 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 หรือ DIPROM Fruit Creation หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตที่ตกเกรดและลดความสูญเสียในช่วงล้นตลาด ทั้งยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมอย่างมีมาตรฐานสากล ควบคุมวัตถุดิบให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ รสชาติคงที่ ตั้งเป้าเกิดผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้นอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ และเมนูผลไม้เพื่อสุขภาพไม่น้อยกว่า 6 เมนู มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วรวม 8 จังหวัด คาดว่าจะครบ 14 จังหวัดภายในเดือนพ.ย.นี้ เตรียมคัดเลือก 15 กิจการ จับคู่ธุรกิจนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปครบวงจร พร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปของไทยที่มีอัตราเติบโตสูง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565(ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าส่งออกราว 18,697 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.24 ขณะที่ในปี 2564 มีมูลค่าราว 22,305 ล้านบาท
นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) กล่าวว่า โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (DIPROM Fruit Creation) มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน OTOP ที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ และเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความสูญเสียอาหาร (Food loss & Food waste) โดยในปีนี้ได้ดำเนินการพัฒนาผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ฝรั่ง และอะโวคาโด ทั้งนี้เพื่อรองรับตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ผลไม้แปรรูปมีมูลค่าการส่งออก 22,305.39 ล้านบาท เฉพาะในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565(ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าส่งออกราว 18,697.06 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับ กลุ่มผลไม้แช่แข็ง (มูลค่า 13,973.71 ล้านบาท) ผลไม้แห้ง (มูลค่า 8,934.96 ล้านบาท) ผลไม้กระป๋อง (มูลค่า 14,190.27 ล้านบาท) และน้ำผลไม้ (มูลค่า 19,784,74 ล้านบาท) โดยมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 72.39 ร้อยละ 29.42 ร้อยละ 24.02 และร้อยละ 34.82 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 126,467.81 ล้านบาท ขยายตัวลดลงร้อยละ 9.27
“เนื่องจากมะม่วงเป็นพืชที่มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมากที่สุด ปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง 200,830 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกราว 913,788 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 1 ล้านตัน ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกมะม่วงสด 2,936 ล้านบาท และมะม่วงกระป๋องราว 1,505 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค. – ก.ย.) การส่งออกมะม่วงสดมีมูลค่า 2,500 ล้านบาท มีอัตราลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกมะม่วงกระป๋องมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.03 ที่มูลค่า 1,311 ล้านบาท ส่วนฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี พื้นที่ผลิตกระจายอยู่ในหลายจังหวัดภาคกลางเป็นหลัก แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร สำหรับอะโวคาโดนั้นกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เกษตรกรมีการขยายการเพาะปลูกต่อเนื่อง เป็นผลไม้ทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมถึงตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันพบการปลูกอะโวคาโดมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 97 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ แหล่งปลูกสำคัญอยู่บนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และตาก ซึ่งปัจจุบันยังมีการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มค่อนข้างน้อย การยกระดับการเกษตรให้มีมิติการจัดการในแบบอุตสาหกรรม หรือเกษตรอุตสาหกรรมจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ เพิ่มทางเลือกด้านอาหารสุขภาพ และจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ”
นางสาวอริยาพร กล่าวต่อว่า โครงการฯ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค .2565 โดยจัดให้มีกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรรูปผลไม้แก่กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่รวม 14 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้มีผู้เข้าร่วมอบรมไม่น้อยกว่า 705 คน แบ่งเป็นกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรูปผลไม้ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร เพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการเป้าหมายด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น (intermediate products) ให้มีอายุเก็บรักษานานขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ เช่น การทำเป็นผง (fruit powder) การทำเป็นเนื้อผลไม้เข้มข้น (puree) และการแช่แข็ง (frozen) อาทิ มะม่วงพิวเร อะโวคาโดแช่แข็ง และฝรั่งผงอบแห้ง เป็นต้น จัดอบรมทั้งหมด 9 รุ่น มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 405 คน ซึ่งได้จัดอบรมไปแล้วที่ จ.ตาก เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบุรี ขอนแก่น และราชบุรี โดยจะจัดที่นครปฐมเป็นลำดับต่อไป
สำหรับหลักสูตรที่ 2 กิจกรรมเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ ด้วยเมนูผลไม้เพื่อสุขภาพ เน้นการนำวัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น (intermediate products) จากหลักสูตรที่ 1 มาประยุกต์เป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการต่อยอดจากสินค้าที่โรงงานแปรรูปผลิตเข้าสู่ธุรกิจบริการอาหาร ซึ่งจะช่วยให้มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ สามารถควบคุมคุณภาพและรสชาติของเมนูที่ให้บริการได้คงที่ อาทิ เมนู สเปรดอะโวคาโดไขมันต่ำ น้ำสลัดอะโวคาโดสูตรคีโต แยมมะม่วงสูตรหวานน้อย โยเกิร์ตมะม่วงสูตรคีโต แยมฝรั่งอเนกประสงค์ และน้ำสลัดฝรั่งสูตรคีโต เป็นต้น จัดอบรม 6 รุ่น มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 300 คน มีแผนการจัดอบรมที่ จ.กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรสงคราม เพชรบูรณ์ และภูเก็ต ระหว่างวันที่ 9 – 23 พ.ย. 2565
“หลังจากนี้จะได้มีการคัดเลือกผู้เข้าอบรมจำนวน 15 กิจการ เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะเข้าให้คำแนะนำกระบวนการแปรรูป การควบคุมคุณภาพสินค้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบหรือจัดทำฉลากพร้อมบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ นำสินค้าส่งตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขออนุญาตเลข อย. ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจรองรับการผลักดันผลิตภัณฑ์สู่ตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปต่อไป คาดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10” นางสาวอริยาพร กล่าว