ศาลแรงงานสั่งสมาคมสื่อฯ จ่ายเงินเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

511

ที่ศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่              ร4175/2564 ระหว่าง นางสาวภาวิตา พิทักษ์วาทิน โจทก์ กับ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จำเลย   สืบเนื่องจากสมาคมฯได้มีหนังสือลงวันที่ 8 กันยายน 2564 บอกเลิกจ้างนางสาวภาวิตาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเพียงคนเดียวของสมาคมฯ  โดยอ้างเหตุว่าเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค – 19 ทำให้สมาคมฯปราศจากรายได้ในช่วงวิกฤติและมีความจำเป็นในการลดภาระของสมาคมฯ  จึงมีมติเลิกจ้างจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ  โดยระบุให้พ้นสภาพการจ้างนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ ( 8 กันยายน 2564)  เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย

ก่อนจะมีหนังสือบอกเลิกจ้าง  นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2564  สมาคมฯได้ค้างจ่ายค่าจ้างและค่าประกันสังคมตามกำหนด   แม้เมื่อนางสาวภาวิตามีหนังสือทวงถามไปยัง            นายภูวนารถ ณ สงขลา นายกสมาคมฯซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2563แล้วแต่ทางสมาคมฯก็ยังเพิกเฉย

การที่สมาคมฯมีหนังสือเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นโดยไม่จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่าย  ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถือเป็นการจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุอันสมควร  เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  ทำให้นางสาวภาวิตาได้รับความเดือดร้อน  ต้องตกงานขาดรายได้ประจำในขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวรวมถึงการเลี้ยงดูบิดามารดาที่แก่ชรา  ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและอายุมาก  ยากแก่การหางานใหม่  จึงฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 เพื่อขอความยุติธรรม

คดีนี้ศาลได้มีการนัดไกล่เกลี่ยคู่ความแต่สมาคมฯไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ย  ศาลได้นัดสืบพยานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 และนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 30 กันยายน 2565  โดยสรุปว่า  ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง  ให้จ่ายค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม – สิงหาคม 2564 เดือนละ 25,000 บาท   งวดวันที่ 1-8 กันยายน 2564 เป็นเงินจำนวน 6,666.67 บาท  ให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวน 44,166.67 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดของเงินแต่ละจำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์