“เจอจ่ายจบ” มีผู้สนใจทำประกันชนิดนี้จำนวนมหาศาล และทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายเบี้ยประกันดังกล่าวไม่สามารถชำระเบี้ยจากได้พิษไวรัสโควิดที่แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ต้องปิดตัวไปถึง 4 บริษัท รวมยอดเบี้ยค้างจ่ายกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท และเจ้าหนี้ประมาณ 6.7 แสนราย กลายเป็นภารกิจที่กองทุนประกันวินาศภัย จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้กับประชาชนที่เป็นหนี้เกิดจากสัญญาประกันภัยโควิด-19 ของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมทุกกรมธรรม์ต่อ 1 ราย) ฟังชัด..ชัด จาก คุณชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เกี่ยวกับแผนดำเนินการชำระค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ทำประกันโควิด-19 ทุกคน
ผู้จัดการกองทุนวินาศภัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มในเรื่องกระบวนการตรวจสอบคำขอรับชำระหนี้ จึงอยากยืนยันกับประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ทุกรายว่า กระบวนการจ่ายเงินของกองทุนประกันวินาศภัย จะดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจสอบหลักฐานที่เจ้าหนี้ได้ยื่นขอรับเงิน ถูกต้อง ชัดเจน ตรงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะคำขอรับชำระหนี้ 4 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการทำประกันภัยโควิด-19 เช่น เจอจ่ายจบ โดยได้ไปเชื่อมลิงก์กับระบบของกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบ RT-CPR
อย่างไรก็ตาม การทำประกันโควิด-19 เจอจ่ายจบ ประชาชนไม่ได้ยื่นขอเฉพาะสินไหมทดแทนอย่างเดียว แต่ยังมีกระบวนการค่าชดเชยรายวัน ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด ถ้าเคสไหนไม่ติดปัญหาอะไร ไม่ต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมก็ส่งต่อไปตามขั้นตอนได้เลย แต่ถ้าเคสไหนติดปัญหาเอกสารไม่คบ เช่น ต้องการได้รับค่าชดเชยรายวัน ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่กองทุนฯก็ต้องขอเอกสารเพิ่มเติม บางครั้งกว่าจะติดต่อเจ้าของกรมธรรม์ได้ใช้เวลาหลายวัน ซึ่งก็มีเจ้าหนี้บางรายยอมสละสิทธิเงินชดเชยเพิ่มเติมเพื่อความรวดเร็ว เช่น ทำประกันเจอจ่ายจบไว้ 1 แสนบาท แต่มีค่าชดเชยรายวันด้วย 2 หมื่นบาท แต่ติดขัดหาเอกสารขอค่าชดเชยไม่ได้ก็ขอสะสิทธิตรงนั้น ขอแค่เงินสินไหม เจอจ่ายจบ อย่างเดียว อันนี้ก็จะไปได้รวดเร็ว
สำหรับช่องทางการยื่นขอรับชำระหนี้ ตามกระบวนการของกฎหมาย เมื่อกองทุนฯถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีให้กับลูกหนี้แทนบริษัทที่ถูกเพิกถอน ในวงเงินสูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ก็จะใช้เวลาตามที่กฎหมายกำหนดคือ 30 วันทำการเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาต จากนั้นก็ประกาศให้เวลาอีก 60 วันสำหรับให้ประชาชนมายื่นขอรับชำระหนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเสร็จก็จะนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ หลังจากผ่านคณะอนุกรรมการฯ ก็จะเข้าสู่บอร์ดบริหารกองทุนฯ ที่มีปลัดระทรวงการคลังเป็นประธาน นำเข้าสู่การขออนุมัติ หลังจากอนุมัติแล้ว วันรุ่งขึ้นกองทุนฯจะทำหนังสือแจ้งสถานะไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ได้รับการอนุมัติว่าท่านได้รับอนุมัติ เพื่อให้เจ้าหนี้ยืนยันสิทธิว่า จำนวนเงินที่กองทุนฯอนุมัติ ถูกต้องและเห็นด้วยไหม รวมถึงเงินที่จะจ่ายเข้าบัญชีเจ้าหนี้ถูกต้องไหม ถ้าเห็นว่าถูกต้องแล้ว ให้เจ้าหนี้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ยืนยันสิทธิมาที่กองทุนฯ โดยสถานะของเจ้าหนี้ก็จะถูกเปลี่ยนเป็น ยืนยันสิทธิเรียบร้อยแล้ว รอการจ่ายเงิน ปัจจุบัน กองทุนฯกำลังหารือในข้อกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการยืนยันสิทธิเป็นหนังสือทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พัฒนาแอปพลิเคชั่นหรือทำระบบไอทีเพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหนี้ กระบวนการต่อมา หลังจากเจ้าหนี้ได้ยืนยันสิทธิเรียบร้อยแล้ว จะอยู่ในช่วงรอการจ่าย
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งประชาชนสนใจมากคือ สภาพคล่องของกองทุนฯขณะนี้เป็นอย่างไร ดำเนินการบริหารจัดการอย่างไร จะหาเงินมาเติมอย่างไร ซึ่งผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยชี้แจงว่า จะบริหารจัดการเป็นปีๆ ในปี 2565 นี้ มีวงเงินสภาพคล่องที่ไม่ได้ติดภาระผูกพันอะไรจ่ายได้ประมาณ 2-3 พันล้านบาท โดยวางแผนถึงเดือนธันวาคม 2565 ขณะนี้ได้เร่งตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามแผนว่าจะจ่ายได้ประมาณเดือนละ 400-500 ล้านบาท จนถึงเดือนธันวาคม 2565 ในปีต่อๆไปบอร์ดบริหารกองทุนฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาอีก 1 คณะ ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้เกี่ยวข้อง ช่วยพิจารณาตามข้อกฎหมายต่างๆ ช่องทางต่างๆ เพื่อที่จะหาเม็ดเงินมาเติมในปีต่อๆไป
“บางคนกังวลว่า ด้วยจำนวนเจ้าหนี้มากเกือบ 7 แสนราย หนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท เกรงกันว่ากองทุนฯจะใช้เวลาพิจารณา 40-50 ปีหรือเปล่า ขอเรียนชี้แจงว่า กองทุนฯจะพยายามบริหารจัดการให้จบภายในเวลา 4-5 ปี สมมุติว่าเราไปกู้เงินมาก็ต้องบริหารจัดการเงินนั้นให้มีประสทธิภาพ เป็นไปตามจำนวนเงินที่เข้ามา ถ้าหาได้มาก แต่จ่ายน้อยก็จะเป็นผลเสียกับเรา เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย และแน่นอนที่สุด ปี 66 ก็จะเป็นอีกปีหนึ่งที่กองทุนฯจะพัฒนาว่าถ้าเราจ่ายได้เท่านี้ ถ้าอย่างนั้นในปีต่อไปเราสามารถจะพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจและมีเม็ดเงินมาจ่ายได้มากขึ้นไหม ผมก็อยากจะจ่ายได้ปีหนึ่งสักหมื่นกว่าล้านบาท เพื่อให้จบภายใน 4-5 ปี จะได้หมดภาระตรงนี้ อันนี้เป็นแนวคิดของผมในฐานะผู้จัดการกองทุนฯวางแผนการดำเนินงาน ภายใต้การบริหารตามนโยบายของบอร์ด ก็อยากจะบอกกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าอย่าได้วิตกกังวล ผมพยายามดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมในการจ่าย และจะพยายามเร่งรัดการจ่าย การดำเนินการตรวจสอบคำขอทวงหนี้ และจ่ายให้จบโดยเร็ว เป็นไปตามหลักเกณฑที่กฎหมายกำหนด ให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต ตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าว
คุณชนะพลยังกล่าวถึงประเด็นที่เจ้าหนี้ทั้งหลายยังมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า กองทุนฯ มีการเลือกปฏิบัติไหม เช่น เอาเคสหลังมาจ่ายก่อน หรือ มีข่าวว่าคนบางกลุ่มไปเก็บค่าหัวคิวเพื่อที่จะมาแซงคิวอะไรต่างๆ ซึ่งผู้จัดการกองทุนฯยืนยันว่า ไม่มีเด็ดขาดในเรื่องการเลือกปฏิบัติหรือไม่ให้ความเป็นธรรม เพราะว่าประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก กองทุนฯจะต้องให้ความเป็นธรรมที่สุด ประเด็นที่เกิดขึ้นอาจมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เช่น บางเคสมีปัญหาในการตรวจสอบ เอกสารไม่ชัดเจน ต้องขอเอกสารเพิ่มเติม เรื่องนั้นก็จะถูกกันออกมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับเจ้าหนี้รายนั้น เคสถัดมาถ้าไม่มีปัญหาในการตรวจสอบก็จะผ่านไปก่อน เมื่อเอกสารของเคสที่สะดุดได้รับการดำเนินการเรียบร้อย ก็กลับเข้าไปในระบบเหมือนเดิม
“ขอยืนยันว่า กองทุนฯไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือมีคนมาให้เงินให้ทองแล้วเอาเคสที่ยื่นมาดำเนินการให้ก่อน อันนี้ไม่มีเด็ดขาด ขอให้เชื่อใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกองทุนประกันวินาศภัยว่ากระทำตามระบบ ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้” ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวปิดท้าย