‘ไททา’ เดินหน้าสร้างอนาคตใหม่เกษตรกรไทย

1229

ครอปไลฟ์ อินเตอร์เนชันแนล ปักธง ‘ไททา’ พัฒนาเกษตรกรไทยสู่นวัตกรรมสมัยใหม่ สร้างสรรค์อาหารปลอดภัยป้อนตลาดโลก มีความมั่นคงทางรายได้ นำองค์ความรู้ระดับโลกสนับสนุนสู่เป้าหมายในระดับสากล

ดร.เซียง ฮี ตัน ผู้อำนวยการบริหาร ครอปไลฟ์ เอเชีย กล่าวในงานเปิดตัวสมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยว่า  “เกษตรกรไทย มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตอาหาร ให้สามารถเลี้ยงดูประชากรทั้งในและต่างประเทศ ส่งเป็นสินค้าออก สร้างรายได้กลับเข้าประเทศมากกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะภายในปี 2020 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีประชากรสูงถึง 600 ล้านราย ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้พิจารณาเลือกประเทศไทยให้เป็น “ประเทศต้นแบบของการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่”

 

ด้านดร. วรณิกา นาควัชระ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ ไททา เปิดเผยว่า ไททา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรด้านนวัตกรรมการเกษตรระดับโลก หนึ่งในสำนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของครอปไลฟ์ อินเตอร์เนชันแนล มีเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อเป็นอาหารให้ประชากรโลก ด้วยนวัตเกษตรที่เหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2561 มีโครงการแรกที่ได้ดำเนินการคือ โครงการรักษ์ผึ้งชันโรง หรือ Protect Stingless Bee ภายใต้แนวคิด “เกษตรกรรม รักษ์โลก เพื่อคน สร้างชุมชน” อันเป็นหนึ่งในโครงการ “รักษ์แมลงผสมเกสร” ของครอปไลฟ์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งได้เริ่มโครงการในประเทศอินเดีย ไทย และฟิลิปปินส์ ในประเทศไทย ได้จัดขึ้นในจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีสวนผลไม้เป็นส่วนใหญ่ มีเกษตรกรเข้าร่วมมากกว่า 100 ราย สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึงร้อยละ 23 และกำลังดำเนินการโครงการนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีสวนลิ้นจี่และลำไยมากที่สุดของประเทศ โดยจะรวบรวมเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจากจังหวัดแพร่และน่านเข้าร่วมโครงการอีกด้วย

“ไททา พร้อมที่จะเดินหน้าสู่อนาคตแห่งเกษตรกรรมไทยไปกับทุกภาคส่วน ควบคู่กับการนำองค์ความรู้และนวัตเกษตรระดับโลกมาสนับสนุน เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับโลก “สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร” และส่งเสริมยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ของไทยที่ว่า “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” ดร. วรณิกา กล่าว

ขณะที่ ดร. เดวิด ซารุค นักวิชาการสื่อสารด้านความเสี่ยงและวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอดิซี ประเทศเบลเยี่ยม กล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศได้หันมาให้ความสนใจภาคการเกษตร เพราะรู้ว่าอาหารเป็นหนึ่งในความมั่นคงของมนุษยชาติ แต่การผลิตเกษตรที่สมบูรณ์ ต้องทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงด้านรายได้ด้วย