การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญถือเป็นความภาคภูมิใจของคนทำงาน แต่สำหรับ ชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เขาต้องเข้ามารับตำแหน่งในช่วงเบี้ยประกันภัย “เจอจ่ายจบ” สร้างความระส่ำครั้งใหญ่ต่อวงการประกันวินาศภัยภัย มีผู้สนใจทำประกันชนิดนี้จำนวนมหาศาล และทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายเบี้ยประกันดังกล่าว ไม่สามารถชำระเบี้ยจากได้พิษไวรัสโควิดที่แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ต้องปิดตัวไปถึง 4 บริษัท รวมยอดเบี้ยค้างจ่ายไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท มีจำนวนผู้เอาประกันที่จะต้องได้รับการชำระหนี้หลายแสนคน นั่นคือสิ่งที่ “กองทุนประกันวินาศภัย” ต้องเข้ามารับผิดชอบแทนบริษัทบริษัทที่ปิดตัวไป
“ตอนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งที่นี่ พวกพ้องต่างก็ตั้งใจจะมาแสดงความยินดี ตอนหลังก็เปลี่ยนมาให้กำลังใจแทน” คุณชนะพล กล่าวด้วยสีหน้าที่มีรอยยิ้ม แม้จะต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง “สำหรับผมปัญหาครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ผมมองว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส”
ในฐานะที่ คุณชนะพล เคยบริหารกองทุนประกันวินาศภัย ตั้งแต่ยังเป็นกองทุนพัฒนาประกันภัย ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงทราบถึงเจตนารมณ์ในการยกระดับจากกองทุนพัฒนาประกันภัย เป็น กองทุนประกันวินาศภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า เมื่อทำประกันวินาศภัยแล้วจะต้องได้รับการคุ้มครอง ดูแลเบี้ยประกัน แม้ว่าบริษัทที่รับทำประกันภัยจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือปิดตัวลงด้วยเหตุผลใดๆ
“ในกรณีบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือ ปิดกิจการ หนี้สินของประชาชนจะได้รับการชดใช้จากกองทุนฯ ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคน อันนี้จะส่งผลต่อความเชื่อถือ เชื่อมั่น ในเรื่องของธุรกิจประกันภัย เช่นกรณีเบี้ยประกันเจอจ่ายจบกว่า 5 หมื่นล้านบาท กองทุนฯต้องหามาชดใช้คืนผู้เอาประกันที่อยู่ในกลุ่มของบริษัทที่ปิดตัวไป โดยเราจะพยายามทำให้เร็วที่สุด อันนี้จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ในเรื่องของหลักประกัน จะหนี้มาก หนี้น้อย ทุกคนได้รับคืนหมด ซึ่งในปี 2565 ผมมีเป้าหมายจัดเตรียมวงเงินที่จะต้องจ่ายตามแผนงานจนถึงเดือนธันวาคมอย่างเป็นระบบ ในปี 66-67-68 จะพยายามทำงานให้ดีที่สุด เร็วที่สุด ในการประสานทุกภาคส่วนจัดหาเงินมาชำระหนี้ให้กับประชาชนตามกฎหมาย เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตามหลักประกันเมื่อบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต จึงอยากบอกกับพ่อแม่พี่น้องว่า ไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องของการพิจารณาการชำระหนี้เบี้ยประกันโควิด จะเรียงตามลำดับ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยจะเร่งหาเงินมาจ่ายให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทุกรายให้เร็วที่สุด”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ไม่ได้เปิดช่องให้กองทุนประกันวินาศภัยกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆได้ ทำให้หลายคนยังสงสัยว่ากองทุนฯจะหาเงินมากมายหลายหมื่นล้านมาเคลียร์หนี้กรมธรรม์ได้อย่างไร
“เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย ก็เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชน แม่จะยังไม่เปิดช่องในประเด็นนี้ ก็ต้องพิจารณาว่าจะหาทางออกอย่างไร สมมุติปี 66 กองทุนฯจำเป็นต้องกู้เงินสัก 1 หมื่นล้านก็ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไรด้วยความรอบคอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินคืนทุกคน รวมถึงต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุนฯด้วยว่าเราทำได้แค่ไหน ถ้ากู้เงินมา 1 หมื่นล้าน เราจ่ายคืนได้แค่ 5 พันล้าน ส่วนที่เหลือก็จะต้องเสียดอกเบี้ย จะแก้ปัญหานี้อย่างไร”
อย่างไรก็ตาม คุณชนะพลยอมรับว่า การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ทำประกันภัยโควิด-19 กับ สำนักงานกองทุนประกันวินาศภัยในช่วงนี้อาจมีความขัดข้องบ้าง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ใหญ่ มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ระบบอาจไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ จึงได้มีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ แยกเป็นส่วนส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ ส่วนบริหารความเสี่ยง ส่วนงานสื่อสารองค์กร ส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนตรวจสอบขอรับชำระหนี้ ฯลฯ
“เราเป็นองค์กรเล็กๆ ถ้าจำนวนคนมาก ในอนาคตก็จะเป็นภาระ เราจึงต้องพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรให้ให้มีสมรรถนะ พัฒนาระบบไอทีต่างๆไม่ให้สะดุด ระบบโทรศัพท์ ระบบการติดต่อสื่อสารช่องทางต่างๆ หรือถ้าเป็นภาค ตามหัวเมือง เราก็มีแนวคิดว่าจะจัดประชุมกรุ๊ปละ 400-500 คน โดยกองทุนเดินทางไปพบทำความเข้าใจ เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจในเจตนารมณ์และสร้างความสบายใจให้กับทุกคนว่าจะได้รับเงินคืนแน่นอน”
ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยยังกล่าวถึงอนาคตประกันภัยว่า นับวันจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนเข้าใจในความเสี่ยงที่มีอยู่มากมายรอบตัว
“ในความคิดของผม มนุษย์เกิดมาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อเติบโตมาแล้วต้องดำเนินชีวิต ต้องบริหารการเงินเป็น ต้องบริหารความเสี่ยงเป็น ผมเคยกล่าวกับหลายคนว่า ประกันภัยมีความสำคัญกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนวันสุดท้าย ตอนนี้มีคนแย้งผมว่าไม่ใช่แล้ว ทุกวันนี้พ่อแม่ทำประกันภัยให้ลูกตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง เรียกว่าทำประกันตั้งแต่ยังไม่เริ่มหายใจ ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตร ธุรกิจ ทรัพย์สินต่างๆ อะไรที่เป็นนอนไลฟ์ ไม่ใช่ชีวิต เป็นวินาศภัยทั้งหมด ยังมีความเสี่ยงอีกมากมายที่เราไม่ได้นำเข้าสู่ระบบ ถ้าเกิดภัยพิบัติต่างๆแล้วเราอาศัยการช่วยเหลือจากงบประมาณของรัฐอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ ธุรกิจประกันภัยจึงต้องเข้ามาคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะสั้น ก็ต้องพัฒนาให้มีเทอมที่ยาวขึ้น เบี้ยถูกลง บริหารความเสี่ยงได้ในทุกมิติ เช่น ผมเดินทางไปทำงาน ผ่านตู้หยอดเหรียญประกันภัย กดซื้อความเสี่ยงประกันภัย 1 แสนบาท เบี้ยเริ่มต้น 5 บาท 10 บาท ผมก็หยอดได้ แต่บังเอิญธุรกิจประกันวินาศภัยตั้งแต่ปลายปี 63 เราเจอโรคอุบัติใหม่คือโควิด-19 ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญของภาคธุรกิจประกันภัยที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระบบการประกันภัยให้ดียิ่งขึ้น มีความรอบคอบทั้งต่อบริษัทและผู้เอาประกัน มีสูตรการคำนวณ การบริหารความเสี่ยง อัตราส่วนเงินกองทุนที่เหมาะสม แม้ประกันภัยโควิด-19 จะเกิดปัญหาเงินค้างจ่ายจากบริษัทที่ปิดตัว แต่ถ้าเราทำให้ประชาชนมั่นใจว่าแม้บริษัทจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต เขาก็ยังได้เงินคืน ก็จะทำให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะเขามั่นใจในธุรกิจประกันวินาศภัยว่ามีการคุ้มครองความเสี่ยงอย่างแท้จริง ถ้าดูผลิตภัณฑ์ที่บริษัทต่างๆขอเข้าไปที่ คปภ. จะพบว่ามีหลากหลายเยอะมาก แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงสภาวะของโลก ซึ่งมนุษย์ต้องเตรียมพร้อมรับมือ หลังโควิดเราไม่รู้ว่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรมาอีก ทุกคนจึงต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยง ขณะที่ภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องการนำธุรกิจประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณภาครัฐเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ” คุณชนะพล กล่าวปิดท้าย