อาชีวะ จัดประชุมวิชาการนานาชาติโครงการฐานวิทย์ฯ 6 ประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงาน

419

คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 7 “The 7th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและงานวิจัยในระดับนานาชาติ  ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายงานวิชาการกับสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมี ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ร่วมในพิธี ณ โรงแรมเกรซแลนด์ เขาหลัก บีชรีสอร์ท อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

คุณหญิง ดร.กัลยา เปิดเผยว่า การพัฒนาผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ ถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพียงพอทีจะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้จัดตั้งโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (Science-Based Technology College :SBTC) เพื่อผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีซึ่งเปรียบเสมือนหัวรถจักรของอาชีวศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับภาคการผลิตและบริการ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innopreneur) เป็นผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นวิศวกรสังคม (Social Engineer) โดยเน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) และสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM  สร้าง Citizen Science ให้เกิดขึ้นเป็นการขยายโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง ยกระดับการเรียนในสายวิชาชีพให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในงานอาชีพและชีวิตประจำวัน

ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ 2560- 2579) ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สอศ. ได้จัดตั้งโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านการประดิษฐ์ คิดค้นและพัฒนาเชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเน้นการจัดการเรียนรู้แบบ Project – based Learning ที่มีการบูรณาการ STEAM for INNOPRENEUR เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม การทำงานร่วมกันเป็นทีม การใช้เทคโนโลยี การสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อขยายฐานการผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์

การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เป็นการส่งเสริมและสร้างเวทีการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ทางวิชาการกับนักเรียน/นักศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ทั้ง 5 แห่งและนักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศได้นำความรู้ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ในปีนี้ สอศ. ได้มอบหมายให้วิทยาลัยเทคนิคพังงา เป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมสร้างทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันเกิดจากการเรียนการสอนของวิทยาลัยต่างๆ และนานาประเทศ ณ โรงแรมเกรซแลนด์ เขาหลัก บีชรีสอร์ท อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา  โดยมีการนำเสนอผลงานทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์  

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ มีสถานศึกษาต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงานทั้งออนไลน์และออนไซต์ จำนวน 6 ประเทศ ประกอบด้วย 1. สิงคโปร์  มี 2 สถานศึกษา 1.) ITE College Central และ 2) ITE College East  2. บังคลาเทศ มี 1 สถานศึกษา  Institution of Diplome Engineers, Bangladesh (IDEB) 3. ญี่ปุ่น 1 สถานศึกษา National Institute of Technology (KOSEN), Oyama College 4. อินเดีย มี 2 สถานศึกษา 1) Several Mahila Mahavidyalaya, Nagpur, India (เซเวอรัล มะหิลา มหาวิทยาลัย นักปัว อินเดีย) และ 2) Sri Prakash Vidyaniketan, India (ศรีประกาศ วิทยานีเคตัน อินเดีย) 5. จีน มี 1 สถานศึกษา Chongqing and Business Institute และ 6.ประเทศไทย มี 6 สถานศึกษา 1) วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี 2) วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี 3) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน 4) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ชลบุรี 5) วิทยาลัยเทคนิคพังงา และ 6) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ซึ่งมีผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมนำเสนอ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท Engineering  และประเภท Applied Science  รวมจำนวนทั้งสิ้น 94 ผลงาน ประกอบด้วย ประเภท Engineering จำนวน 41 ผลงาน ประเภท Applied Science จำนวน 53 ผลงาน (ผลงานที่นำเสนอ ออนไลน์ ประเภท Oral presentation จำนวน 10 ผลงาน ประเภท ออนไซต์ จำนวน 37 ผลงาน นำเสนอประเภท Poster presentation  จำนวน 48 ผลงาน)