“ออมสิน” แบงก์รัฐแห่งแรกขาย Social Bond มูลค่าสูงสุดของไทย ถึง 10,000 ล้านบาท แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

429

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินมีการดำเนินงานตามกรอบแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (E – Environment) สังคม (S – Social) และธรรมาภิบาล (G – Governance) โดยเฉพาะในกระบวนการที่สำคัญของธนาคาร เพื่อนำพาองค์กรและสังคมมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามกระแสโลกในปัจจุบัน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารออมสินได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) ของธนาคาร วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยออกในประเทศไทย เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปดำเนินการโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ เพื่อลดความเหลี่อมล้ำทางการเงิน และแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน ให้เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเป็นธรรม ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประสบภัย เพื่อพัฒนาชนบท และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น

ทั้งนี้ การออกขายหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) ดังกล่าว ประสบความสำเร็จได้รับความสนใจ อย่างมากจากนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีนโยบายในความรับผิดชอบต่อสังคม และได้เข้าลงทุนจนเต็มวงเงินภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยธนาคารออมสิน ถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกที่มีความพร้อมและดำเนินการระดมทุนในรูปแบบดังกล่าว ที่เชื่อมโยงกับภารกิจธนาคารเพื่อสังคม ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร อนึ่ง หุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.35% ต่อปี เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ธนาคารออมสิน ที่ระดับ “AAA” แนวโน้ม “คงที่” ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคผ่านความร่วมมือระหว่างความริเริ่มด้านตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคอาเซียน (Asian Bond Markets Initiative – ABMI) และกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility – ACGF) ซึ่ง ABMI เป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลต่าง ๆ ในประเทศอาเซียน รวมถึง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นที่ยั่งยืน ส่วน ACGF นั้น เป็นความคิดริเริ่มของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) เพื่อเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้