แอพฯตาทิพย์ ชีวิตไร้อุปสรรคในสมาร์ทซิตี้

2292

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ถูกพัฒนาเพื่อผู้พิการทางสายตา อะไรที่เคยยากก็กลายเป็นเรื่องง่าย หนึ่งในไอเดียดีๆที่ถูกจุดประกายเพื่อรองรับ ‘สมาร์ทซิตี้’

นายจารุบุตร อัศวเรืองชัย และ นางสาวกันตินันท์ กิจจาการ ผู้ก่อตั้ง บริษัท เอ.ไอ.เบรน จำกัด  และเจ้าของโครงการ ตาคู่ใจ หนึ่งในผู้พัฒนาโครงการภายใต้สมาร์ท ซิตี้ สตาร์ท อัพ ดิเวลลอปเม้นท์  กล่าวว่า “แนวคิดการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อผู้พิการทางสายตานี้ เริ่มมาจากโจทย์จากทางสมาคมคนตาบอดว่า อยากให้คิดสิ่งที่ช่วยคนตาบอดให้ใช้ชีวิตที่เท่าเทียมกับคนตาดีเพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม   คนตาบอดอยากรู้ว่า วัตถุที่ตั้งอยู่ตรงหน้า เป็นวัตถุอะไร คนที่อยู่ตรงหน้าเป็นใคร ตอนนี้อยู่ที่ไหน รถเมลล์สายไหนมาแล้ว รับธนบัตรมาถูกหรือเปล่า หยิบธนบัตรอะไรออกไปจากกระเป๋า หรือด้านหน้ามีประตูหรือไม่ เพื่อความรู้สึกไม่กังวลในการหยิบจับสิ่งของ และการเดินทางที่ไปไหนมาไหนได้ถูกต้อง ลดอุบัติเหตุในการเดินทาง เช่นจะทราบว่า ประตูทางออก ทางเข้า ลิฟท์ บันได จะได้ไม่ก้าวพลาด และช่วยลดการพึ่งพิงผู้อื่นในการต้องคอยสอบถามว่ารถสายไหนมา ใครที่เดินเข้ามาในห้องแล้ว หรือเราหยิบธนบัตรถูกต้องหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเวลาคนตาบอดหยิบจับธนบัตรนั้น ก็จะใช้วิธีการลูบคลำ เป็นการฝึกและสอนต่อ ๆ กันมา แต่สำหรับคนตาบอดที่ไม่คุ้ยเคย อาจจะมีการหยิบธนบัตรผิดพลาดทำให้ถูกมิจฉาชีพบางกลุ่มโกงได้    ทางทีมงานฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบปัญญาประดิษฐ์ มีประสบการณ์ทำระบบปัญญาประดิษฐ์ให้กับองค์กรระดับใหญ่มานาน จึงคิดค้นโครงการตาคู่ใจออกมา เพื่อขอรับการสนับสนุนจากงาน สมาร์ท ซิตี้ สตาร์ท อัพ ดิเวลลอปเม้นท์

“การใช้งานของแอพพลิเคชั่นนี้ เป็นการใช้งานผ่านกล้องมือถือ  เราใช้กล้องมือถือแทนแทนดวงตา และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นเสมือนประสาทตาให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ และบ่งบอกถึงสิ่งของหรือบุคคลรวมถึงสถานที่เชิงลึกที่อยู่เบื้องหน้า เพราะคนตาบอดก็มีการใช้ชีวิตประจำวันเฉกเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ต้องมีการนัดประชุม การรับประทานอาหาร การทำงาน การเดินทาง เมื่อจะนัดเจอกัน คนตาบอดก็อยากทราบว่าคนที่นัดมาถึงแล้ว หรือหากมีการพลัดหลง ก็อยากจะสามารถสื่อสารบอกเพื่อนได้ว่าขณะนี้กำลังยืนอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งในการใช้งานแอพพลิเคชั่นก็จะทำได้โดยได้จากการเพิ่มรูปเพื่อนและใส่รายละเอียดต่าง ๆ เช่น ชื่อ  กลุ่ม เข้าไปในแอพพลิเคชั่นก่อนเพื่อบันทึกข้อมูลไว้ จากนั้นเมื่อมีการใช้กล้องส่องไปยังบุคคลนั้น แอพพลิเคชั่นก็จะอ่านออกเสียงออกมา สำหรับในกรณีสิ่งของ สถานที่ และฟังก์ชั่นอื่นสามารถใช้งานโดยเปิดกล้องไว้ จากนั้นระบบปัญญาประดิษฐ์จะออกเสียงประเภทของสิ่งของหรือชื่อสถานที่นั้น ๆ เป็นต้น ปัจจุบันฟังก์ชั่นการใช้งาน สามารถใช้ได้ 8 หมวดหมู่ ได้แก่ หน้า รถเมล์ เพื่อน เงิน สัตว์เลี้ยง อาหาร สถานที่ และทั่วไป”   นายจารุบุตร กล่าว

ด้านนางสาวกันตินันท์ กล่าวเสริมว่า  “ได้นำแอพพลิเคชั่นไปให้คนตาบอดได้ทดลองใช้ ได้ผลตอบรับที่ดีโดยเฉพาะหมวดหมู่ที่ตอบโจทย์มาก ๆ คือสายรถประจำทาง เนื่องจากปัจจุบันทุกครั้งที่เดินทางจำเป็นต้องอาศัยการสอบถามจากบุคคลรอบข้าง เพื่อให้สามารถขึ้นรถโดยสารได้ถูกคันหรือต้องให้ผู้คนรอบข้างคอยบอกว่ารถโดยสารที่ต้องการขึ้นมาถึงแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่เสมอ เมื่อมีแอพพลิเคชั่นตัวนี้ขึ้นมา ทำให้สะดวกมากขึ้นในการเดินทางด้วยตนเอง ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการนำขึ้นแอพสโตร์ ( App Store ) มีความตั้งใจไว้ว่าจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ไปถึงการอ่าน โดยทางทีม ฯ คิดไปถึงการอ่านฉลากที่มีสัญลักษณ์ยาก ๆ เพื่อไม่ให้มีการหยิบยาผิด หยิบสารเคมี และอ่านวิธีการใช้ได้  ขณะนี้ได้มีบริษัทเอกชนมาสอบถามถึงการนำแอพนี้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่น เช่น หากอยากจะให้แอพนี้ช่วยตรวจสอบงานด้าน Inspection ต่าง ๆ  เป็นต้น และเมื่อแอพพลิเคชั่นตาคู่ใจ ได้ลงในแอพสโตร์ ( App Store )  จนมีความเสถียรแล้ว ก็จะนำแอพมาลงในแอนดรอยด์ (Android ) เพื่อให้เข้าสู่คนหมู่มากได้และใช้กับผู้สูงอายุได้อีกด้วย”