เปิดผลสำรวจว่าที่ผู้ว่าฯ ในใจคน กทม. “รู้จริง-ทำไว” ฟันธง! 22 พ.ค.หย่อนบัตรอาจถึง 70%

440

คนกรุงตั้งธงว่าที่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ต้องรู้จริงปัญหาเมืองหลวงและแก้ได้ตรงจุด  ชี้มลพิษ –ค่าครองชีพสูง-ระบบขนส่งมวลชนขาดประสิทธิภาพ-ปัญหาการจราจร ล้วนเรื่องใหญ่คาใจคนลงคะแนน  คาด 22 พ.ค.ตบเท้าหย่อนบัตรเกิน 60% แม้จะยังหวั่นโควิดระบาด

            นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ  ผู้อำนวยการ อปท.นิวส์โพล  และ รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ และ ดร.อุดม พลอยจินดา นายกสมาคมนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย    อีสเทิร์นเอเชีย ร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อ“การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” ที่ได้ดำเนินการระหว่างวันที่ 20-27 เมษายน2565 ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์พร้อมลงสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 1,625 รายจากพื้นที่6 กลุ่มเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงธนบุรีเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพฯกลาง กลุ่มเขตกรุงธนบุรีใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออก กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ และ กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือโดยมีผลสำรวจดังนี้

          ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

            จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า  กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 55   เพศหญิงร้อยละ 45  โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 มีอายุอยู่ระหว่าง 36-45 ปี รองลงมาร้อยละ 20 มีอายุ46-55 ปี  ร้อยละ 18มีอายุ 56-65 ปี ร้อยละ 11 มีอายุระหว่าง 18-25 ปี ร้อยละ 9 มีอายุระหว่าง 26 – 35 ปี และร้อยละ 7  มีอายุ 66 ปีขึ้นไปตามลำดับ

ทางด้านการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวนมากร้อยละ36ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาร้อยละ21 เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและ ปวช. ร้อยละ 17สูงว่าปริญญาตรี  ร้อยละ 14 มีการศึกษาในขั้นประถมศึกษา  และร้อยละ 12 มีการศึกษาระดับอนุปริญญา หรือ ปวส. ตามลำดับ

            ส่วนทางด้านอาชีพของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม   พบว่า เป็นกลุ่มที่อยู่ในหมวด อื่นๆ เช่น อาชีพอิสระตอบแบบสอบถามมากที่สุดมีจำนวนถึงร้อยละ34รองลงมาคือกลุ่มอาชีพค้าขาย จำนวนร้อยละ29  เป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ20รับราชการ ร้อยละ 11  เกษียณอายุแล้ว ร้อยละ 3  เกษตรกร ร้อยละ 1ตามลำดับ

            ด้านรายได้ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม  พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 50 มีรายได้ในระดับ15,001-20,000บาทต่อเดือนรองลงมาร้อยละ 27 มีรายได้มากกว่า 20,001 บาทต่อเดือนขึ้นไป ร้อยละ 8 มีทั้งกลุ่มที่รายได้อยู่ระหว่าง10,001-15,000 บาท และกลุ่มรายได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ที่เหลือร้อยละ 7 คือกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง5,001 – 10,000 บาท

            ด้านสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ผู้ให้ข้อมูลมากที่สุดร้อยละ51อยู่ในสถานะสมรส ร้อยละ40  อยู่ในสถานะโสด และร้อยละ9  อยู่ในสถานะ หย่าร้าง ตามลำดับ

          การรับรู้ของประชาชนต่อการเลือกตั้ง

            เมื่อสอบถามว่า  ท่านทราบหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ สก.  กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78  ตอบว่าทราบ  ที่เหลือร้อยละ22  ตอบว่าไม่ทราบ

            ถามว่า ท่านรับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าจะมีการ เลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. และ สก. จากสื่อช่องทางใด  ร้อยละ 48  ตอบว่ารับรู้จากสื่อ online  รองลงมาจำนวนร้อยละ 22  รับรู้จาก สื่อโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีร้อยละ 16 ทราบจาก ผู้สมัครและทีมงาน   จำนวนร้อยละ 12  ทราบจาก ป้ายหาเสียงและ เอกสารการประชาสัมพันธ์ มีเพียงแค่ร้อยละ 2  ทราบจาก สื่อหนังสือพิมพ์และอื่นๆ

            ถามว่า ท่านจะไปใช้สิทธิการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565นี้หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44 ตอบว่าไปแน่นอน รองลงมาจำนวนร้อยละ 35คิดว่าจะไป  ร้อยละ 14 ตอบว่ายังไม่แน่ใจ  มีเพียงจำนวนร้อยละ7 ตอบว่า ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้

            ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของกลุ่มตัวอย่าง  พบว่า จำนวนมากที่สุดร้อยละ 46 ยังเป็นห่วงเรื่องโรคโควิด19 รองลงมา จำนวนร้อยละ 21 คิดถึงความสะดวกในการเดินทางร้อยละ 16คิดถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง  ร้อยละ 8คิดว่าสภาพฝนฟ้าอากาศจะมีผล  จำนวนร้อยละ 6 คิดว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางอาจมีผล  และร้อยละ3คือปัจจัยอื่นๆ

            ความคาดหวังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสก.

            ในประเด็นการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ สก.ครั้งนี้ประชาชนคิดถึงอะไรมากที่สุดกลุ่มตัวอย่างมากที่สุดจำนวนร้อยละ 38  จะนึกถึง การไปใช้สิทธิใช้เสียงแบบประชาธิปไตย รองลงมาจำนวนร้อยละ 32  นึกถึงการพัฒนาบ้านเมือง ร้อยละ 28 จะนึกถึงการแข่งขันทางการเมือง และ อีกร้อยละ 2  จะนึกถึงเรื่องอื่นๆเป็นลำดับสุดท้าย

            ถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม และโปร่งใสหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุดร้อยละ 46ตอบว่า ไม่แน่ใจ รองลงมาจำนวนร้อยละ 28  ตอบว่า มีความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม แต่จำนวนร้อยละ 26ตอบว่า ไม่มีความเชื่อมั่น ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดความโปร่งใสและมีความยุติธรรม

            แล้วปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ สก. ในครั้งนี้คืออะไร กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุด ร้อยละ 29ตอบว่าคือ นโยบายที่ใช้ในการหาเสียง รองลงมา จำนวนร้อยละ26คือ ความนิยมในตัวผู้สมัคร  จำนวนร้อยละ 24คือ ความนิยมในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง จำนวนร้อยละ 14คือ วิธีการและกลยุทธ์ในการหาเสียง จำนวนร้อยละ 6 คือ จำนวนเงินที่ใช้ในการหาเสียง และลำดับสุดท้าย ร้อยละ 1 คือ ปัจจัยจากส่วนอื่นๆ 

            เมื่อถามว่า ผู้ว่าฯ กทม. และ สก. มีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองหลวงหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51ตอบว่า มีผล รองลงมาร้อยละ 30 ตอบว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 19 ของกลุ่มตัวอย่างตอบว่า ไม่มีผลแต่อย่างใด

            ถามถึงปัญหาที่ชาวกทม. ต้องการให้มีการแก้ไขมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ ปัญหาเรื่องมลพิษอันดับที่สอง คือ ปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูง ลำดับที่สามและสี่เท่ากันคือ ระบบขนส่งมวลชนที่ขาดประสิทธิภาพและปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ลำดับที่ห้าคือปัญหาการจราจรติดขัด  ลำดับที่หกปัญหาเรื่องขยะล้นเมือง ลำดับที่เจ็ด การแพร่ระบาดของยาเสพติด ลำดับที่แปด ปัญหาเรื่องน้ำท่วม  ลำดับที่เก้า ปัญหาอาชญากรรม  นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดพื้นที่สีเขียว  การฝ่าฝืนวินัยจราจร  ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว  การก่อสร้างผิดกฎหมาย  การบำบัดน้ำเสีย  คนเร่ร่อน  ขอทาน รวมไปถึงปัญหาสุนัขจรจัด

            เมื่อถามถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ผู้ว่าฯกทม.ในยุคปัจจุบันว่าควรมีลักษณะอย่างไร กลุ่มตัวอย่างมากที่สุดจำนวนร้อยละ 41 ตอบว่า  ควรมีความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้และรู้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด  รองลงมาจำนวนร้อยละ 27คือเป็นผู้ที่มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองหลวง  ร้อยละ 12 เห็นว่าควรเป็นผู้ที่รู้จักใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โปร่งใส พอๆกับ สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ได้  สุดท้ายร้อยละ 8 เห็นว่า ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการเมืองขนาดใหญ่ตามลำดับ

          บทสรุป

            การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ สก. ในครั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามจะมีการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีมีจำนวนถึงร้อยละ53 และมีการรับรู้ข่าวสารและมีการตื่นตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้จัดการเลือกตั้งครั้งนี้ควรประชาสัมพันธ์ช่องทางสื่อสังคม online  ให้มากขึ้นเพราะเป็นช่องทางที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับทราบข่าวสารโดยอาจเน้นการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองหลวงให้ดีขึ้นมากกว่าเดิมอย่างไร

            จากการตอบแบบสอบถามน่าจะเป็นข่าวดีที่ว่ามีแนวโน้มชาวกรุงเทพมหานครมีความตื่นตัวจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565เกินร้อยละ60 หรืออาจจะถึงร้อยละ 70 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แม้ว่ายังมีความห่วงเรื่องการระบาดของโรคโควิด19 และความสะดวกในการเดินทางจะยังเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการออกไปไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

            อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากยังมองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิใช้เสียงในรูปแบบประชาธิปไตย  แต่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กลับไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครจะมีความสุจริต โปร่งใส  ประกอบกับข่าวสารที่ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองระดับชาติที่สนับสนุนตัวผู้สมัคร  ทั้งอย่างชัดเจนและคลุมเครือ  มากกว่านโยบายการพัฒนาเมือง การแก้ปัญหาซ้ำซากของเมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองหลวง

            ดังนั้นนอกจากฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครจะต้องทำการรณรงค์ให้คนกรุงเทพฯออกไปใช้สิทธิใช้เสียงให้สมกับการรอคอยมาหลายปีแล้ว  ผู้สมัครที่คาดหวังคะแนนเสียงบริสุทธิ์จากประชาชนจึงควรหาช่องทางแสดงวิสัยทัศน์ และนโยบายเร่งด่วนที่จะเห็นผลและส่งผลถึงคุณภาพชีวิตในช่วงวาระของการดำรงตำแหน่งอันเป็นสิ่งที่คนเมืองหลวงต้องการในยามนี้

          การทำผลสำรวจคำถามเดียว (หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งท่านจะเลือกใครเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.”)

            จากการทำผลสำรวจของแต่ละค่ายทุกๆ ครั้ง ผลสำรวจของ กทม.มักจะมีการเบี่ยงเบนหรือคาดเคลื่อนอย่างสูงด้วยอายุและพฤติกรรมรวมกับคน กทม.ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เสพติดข่าวและอัพเดพข่าวได้เร็วกว่า  เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยืนยันผลการสำรวจครั้งที่ 1 และทดสอบสมมุติฐานคาดการณ์การเลือกตั้งว่า ผู้สมัครคนไหนน่าสนใจ ในช่วงนี้ ทาง อปท.นิวส์โพล จึงทำผลสำรวจโดยใช้คำถามเดียว ในหัวข้อ หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” ระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2565 ถึง วันที่ 4 พฤษภาคม 2565  มีผลดังนี้

          หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์               28%

          หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง           20%

          หมายเลข 4 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์         14%

          หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร           11%

          หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา                    8%

          อื่นๆ (ยังไม่ตัดสินใจเลือกท่านใด)                5%

          ไม่ไปใช้สิทธิ/ไม่เลือก                                4%

          หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล           4%

          หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี                       3%

          หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัตวาที 3%