สิ่งประดิษฐ์อาชีวะเข้าตาซีอีโอ จับคู่ธุรกิจได้ถึง 367 ผลงาน

2504

พลเอก สุรเชษฐ์  ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวในโอกาสไปเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือจับคู่ธุรกิจในโครงการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ภาคเหนือ ซึ่งจัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน ว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนผลงานสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา ให้สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 นั้น การจับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา และการเจรจาซื้อขายผลงาน สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ตลอดจนการให้คำแนะนำการวิจัยพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา        ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ นับเป็นหัวใจหลักในการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งผลจากความร่วมมือ   ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมที่จะนำพาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ การประสานงานของคณะกรรมการดำเนินการทุกฝ่าย ตามกลไกของรัฐบาลในความร่วมมือเครือข่าย ประชารัฐ  เป็นการสร้างโอกาส และส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  นำความรู้ความสามารถ ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์ในการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่มีคุณค่าสู่เชิงพาณิชย์และการต่อยอดทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านนายสุเทพ  ชิตยวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กล่าวว่าการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับศึกษาธิการภาค ได้ดำเนินการมาแล้วในส่วนของภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จำนวน 116 ชิ้นงาน MOU 24 คู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 243 ชิ้นงาน MOU 98 คู่ และภาคกลาง จำนวน 222 ชิ้นงาน MOU 75 คู่ สำหรับในส่วนของภาคเหนือ ได้จัดให้มีโครงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์จากสถานศึกษาภาคเหนือ ที่ผ่านการคัดเลือกว่าสามารถพัฒนาต่อยอดเข้าสู่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวนทั้งสิ้น 251 ผลงาน MOU 170 คู่ เพื่อให้สถานประกอบการได้เยี่ยมชม ให้คำแนะนำในการวิจัยพัฒนาผลงานให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น และนำไปสู่การจับคู่ความร่วมมือในการนำผลงานไปใช้งานจริง             ในเชิงธุรกิจต่อไป

รูปแบบ MOU ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา

  1. เจรจาเพื่อซื้อสิ่งประดิษฐ์หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์
  2. แนะนำเพิ่มเติมจากสิ่งประดิษฐ์เดิมแล้วจะซื้อสิ่งประดิษฐ์
  3. ให้โจทย์นักศึกษาอาชีวศึกษา ในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อต่อไป
  4. ให้คำแนะนำและช่วยเป็นที่ปรึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ทั้งปัจจุบันและอนาคต