IWAM 2022…งานประชุมนานาชาติสะท้อนปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรและหุ่นยนต์

381
AI. Artificial intelligence. Head robot hanging over podium and look at virtual dashboard. Supercomputer in image futuristic cyborg head. Machine learning technology, neural networks.

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เรื่อง การปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือInternational Workshop on Affective Interaction Between Humans and Machines in Multicultural Society (IWAM 2022) โดยมี รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคุณฮิโรยูกิ ไอดะ (Mr. Hiroyuki Iida) รองอธิการบดี สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งญี่ปุ่น(JAIST) คุณบุย ตรัน เกวียน งอค (Bui Tran Quynh Ngoc) รองอธิการบดี และ คุณฟาม เหงียน ตันวินห์ (Pham Nguyen Thanh Vinh) หัวหน้ากองการต่างประเทศจาก มหาวิทยาลัยการศึกษาโฮจิมินห์ซิตี้ (HCMUE) ประเทศเวียดนาม โดยมีนักวิจัยและนักวิชาการเข้าร่วมประชุมและผนึกความร่วมมือ

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกปัจจุบันและอนาคตมีแนวโน้มของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์ กับเครื่องจักร หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอ.ไอ.มากยิ่งขึ้นทุกขณะ ซึ่งมีผลดีเพื่อเชื่อมต่อ เพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความแม่นยำ  ไม่ว่าจะเป็นวงการสุขภาพ การแพทย์ทางไกล หรือธุรกิจอุตสาหกรรม ดังนั้นการปฏิสัมพันธ์ที่ ‘ถูกต้องตรงกัน’ ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรผ่าน input ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพ ข้อความ คำสั่ง เสียง ย่อมมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการตอบโต้ของเครื่องจักร วัตถุประสงค์ของการจัดการประชุม IWAM 2022 จึงมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ศึกษาการกำหนดแนวทางในอนาคตด้านการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิจัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประชาคมร่วมกัน   

การประชุม IWAM 2022 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อริเริ่มและกำหนดแนวทางการดำเนินงาน (Kick-off) ระดับนานาชาติให้มีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกัน โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง (Japan Advanced Institute of Science and Technology : JAIST) แห่งประเทศญี่ปุ่น  มหาวิทยาลัยการศึกษาโฮจิมินห์ซิตี้ (Ho Chi Minh City University of Education : HCMUE) ประเทศเวียดนาม และ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนพัฒนาองค์ความรู้ในงานวิจัยทางด้านการปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านสหวิทยาการ อย่างเช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) จิตวิทยา (Psychology) และการรักษาความปลอดภัยทางสารสนเทศ (Information Security) เป็นต้น

ทั้งนี้ทางประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจอย่างมากที่ประเทศไทยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเอไอ มาช่วยยกระดับสุขภาพจิตของประชาชนในวิถีใหม่ยุคดิจิทัล เช่น นวัตกรรมใส่ใจ Chatbot ซึ่งเป็นบริการแชทบ็อทปัญญาประดิษฐ์ประเมินผลภาวะซึมเศร้าทางออนไลน์แก่ประชาชน โดยได้พัฒนา เอไอ ซึ่งสามารถประมวลผลด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็วจากข้อมูลที่โต้ตอบกับผู้ใช้บริการ และแช็ทบอทยังสามารถสนทนาช่วยให้ผู้รับการประเมินมีกำลังใจที่ดี อันจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมและการฟื้นฟูรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญในขั้นต่อไป