ส.ป.ก.เผยร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดินฉบับใหม่แล้วเสร็จพร้อมชงเข้ากระทรวงเกษตรฯ ชี้เส้นทางเข้าสู่สภาและความจำเป็นเร่งด่วนแก้ปัญหาฟ้องขับไล่ 7-8 แสนคน ยันนายกฯและภาคการเมืองสนับสนุนเพิ่มมูลค่าที่ดินเกษตรกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรและประชาชนว่า กระบวนการของส.ป.ก.เป็นไปตามแผน ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ…… ที่จะมาแทน พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ที่ใช้มาเกือบ 50 ปีแล้วนั้น อยู่ในขั้นเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายของส.ป.ก. ที่มีเลขาธิการส.ป.ก.เป็นประธาน ก่อนจะไปสู่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามลำดับ จึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี หากอนุมัติหลักการจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป
เราดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ส่วนสภาจะอยู่ต่อได้สั้นหรือยาวนั้นเป็นอนาคต หลักที่วางไว้ว่ากฎหมายที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขต้องประเมินผลสัมฤทธิ์และให้เสร็จในปี 2566 และกฎหมายสำคัญของส.ป.ก.เป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นภาระที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส.ป.ก.จะต้องไปฟ้องไปไล่จับ ทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ คนที่อยู่จะทำการเกษตรอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้
“ที่ดินส.ป.ก.ที่ภูเก็ตจะไปทำการเกษตรอย่างเดียวโดยไม่มีด้านการท่องเที่ยวก็ทำไม่ได้ บางทีต้องมีโฮมสเตย์ให้พักด้วย หรือมีร้านอาหารบริการ มีการประเมินว่ามีผู้คนไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนคนที่จะเดือดร้อนไม่มีที่อยู่หากถูกฟ้องขับไล่” นายสุริยนกล่าว
รองเลขาธิการส.ป.ก. กล่าวต่อว่าคนที่ประกอบกิจการต่างๆสร้างเศรษฐกิจเป็นมูลค่าเพิ่มก็ทำไม่ได้ ธุรกิจด้านพลังงาน เหมืองแร่ มีศักยภาพสูง ทำไมจะไม่เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ศักยภาพด้านการศึกษาก็มี พื้นที่ที่มีการศึกษาก็ต้องเปิดให้ทำวิจัยได้ พื้นที่ที่เหมาะกับการท่องเที่ยวประกอบกับการเกษตรในหลายมิติก็ควรจะทำคู่กันได้ คือคงไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแต่ทำกิจกรรมอื่นได้อย่างหลากหลาย ลูกหลานเกษตรกรที่มาเรียนหรือทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อกลับไปบ้านจะได้มีงานให้เลือกทำ ไม่ใช่ต้องทำเกษตรอย่างเดียว คนรุ่นใหม่ต้องทำหลายอย่าง ทำอย่างเดียวไม่พอกิน
เมื่อสอบถามถึงภาคการเมืองที่คุมกระทรวงต่างๆที่เชื่อมโยงกับเรื่องส.ป.ก. นายสุริยนกล่าวว่าต่างเห็นด้วยหมดกับแนวทางแก้ปัญหา เพราะถ้าไม่เห็นด้วยชาวบ้านในพื้นที่หรือเกษตรกรที่รายได้น้อยคงไม่พอใจแน่ เพราะความจริงของสังคมเป็นแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้คนไทยทุกคนอยู่ได้บนผืนดินอย่างมีความสุข สามารถสร้างเศรษฐกิจสร้างรายได้แก่ตัวเองโดยสอดคล้องกับกฎหมาย
“กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบันก็ต้องปรับ ไม่เช่นนั้นคนจะอยู่อย่างไม่มีรายได้ได้ยังไง ถ้าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำมาหากิน ประเทศชาติก็อยู่ได้ รัฐบาลก็อยู่ได้ในภาวะเช่นนี้”
สำหรับร่างกฎหมายที่ออกมานั้นนายสุริยนอธิบายว่าพื้นที่เกษตรกรรมส่วนหนึ่ง ต้องมีสำหรับการศึกษา สาธารณูปโภค พาณิชยกรรม สาธารณสุข บริการ การท่องเที่ยว วันนี้ภาคบริการทำรายได้มากกว่าภาคเกษตรกรรม ยังมีกิจการสนับสนุนเกี่ยวเนื่องพลังงาน การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ก็ไม่ต้องนำเข้าทรัพยากรจากต่างประเทศและเกิดความมั่นคงในประเทศด้วย
“นโยบายของนายกรัฐมนตรีก็อยากจะทำเรื่องนี้ให้เร็ว เพราะต้องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมก็เห็นว่าต้องสร้างมูลค่าในที่ดิน ต้องสร้างเศรษฐกิจ ต้องไม่ปล่อยให้สิ่งต่างๆนิ่งอยู่กับที่ หรือมีการเปลี่ยนมือไปทำสิ่งต่างๆได้โดยมีการควบคุมผลกระทบต่อระบบนิเวศน์หรือสังคม”นายสุริยนกล่าว
ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง กล่าวให้ความเห็นว่า ทางสมาคมฯขอสนับสนุนการทำงานของส.ป.ก.ในยุคปัจจุบันที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ยอมรับความเป็นจริงทางสังคมและมีความตั้งใจในการแก้ไขกฎหมายส.ป.ก.ที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลายประเภทไม่เฉพาะด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่จะยังส่งผลถึงการท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี รวมถึงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้สมาคมสินแร่ฯสนับสนุนอย่างยิ่งในหลักการที่ว่า ที่ดินของส.ป.ก.ควรได้รับการบัญญัติไว้ในกฏหมายที่กำลังจะแก้ไขใหม่ โดยกำหนดเป็นโซนหรือพื้นที่และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และคุ้มค่าในกิจการต่างๆ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการแบบใหม่
“เมื่อข้าราชการประจำขับเคลื่อนแล้ว อยากเห็นภาคการเมืองโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามารับไม้ต่อเพื่อผลักดันร่างกฎหมายใหม่เข้าสู่สภาโดยไวเพราะจะเป็นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากระดับฐานรากโดยแท้จริง” ดร.วิจักษ์กล่าว