บอร์ด คปภ. รับคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์และไทยประกันภัย

455

บอร์ด คปภ. รับคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์และไทยประกันภัย พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขฯ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค ให้ปฏิบัติให้แล้วเสร็จ ก่อนเสนอบอร์ด คปภ. เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เลิกกิจการหรือไม่ ในระหว่างนี้บริษัททั้งสองยังต้องดำเนินการประกอบธุรกิจตามปกติ โดยประชาชนยังสามารถยื่นเคลมประกันภัยได้

นายอดิศร  พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีผลทันทีนับตั้งแต่วันที่แผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) และทั้ง 2 บริษัทจะคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป โดยขออนุมัติให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาอำนวยการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนด นั้น

ในเรื่องนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งมีรองเลขาธิการ ด้านกำกับ เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีรองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ และรองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และมีผู้ช่วยเลขาธิการสายงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน โดยได้มีประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ต่อมาสำนักงาน คปภ. ได้นำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการกฎหมายเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยให้บริษัทได้มีโอกาสเข้าร่วมชี้แจงด้วย โดยคณะอนุกรรมการฯมีความเห็นว่า คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้ เนื่องจากบริษัทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสียให้ครบถ้วนก่อนตามที่คณะกรรมการ คปภ. กำหนด ตามมาตรา 57 ให้เสร็จสิ้นก่อน คณะกรรมการ คปภ. จึงจะอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้ สำนักงาน คปภ. จึงได้นำวาระดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ครั้งที่ 1/2565 ในวันนี้ (วันที่ 28 มกราคม 2565) โดยบอร์ด คปภ. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นของคณะอนุกรรมการกฎหมายโดยละเอียดแล้วมีมติว่าเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 จึงให้รับคำขอกรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่ให้บริษัททั้งสองปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้

1. วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทที่ยังมีผลผูกพันอยู่ไปยังบริษัทประกันภัยผู้รับโอน ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

     1.1 ให้บริษัทผู้ขอเลิกกิจการแจ้งรายชื่อบริษัทที่จะรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยให้สำนักงาน คปภ. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

     1.2 สิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทที่รับโอนไปต้องเท่ากับหรือไม่ด้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองตามผลผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม

2. ช่องทางและวิธีการบอกกล่าวฯ ให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย จะต้องเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การบอกกล่าวเจ้าหนี้อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

3. การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ที่บริษัทประกันภัยวางไว้กับนายทะเบียน ตามมาตรา 24
จะกระทำได้ต่อเมื่อ

    3.1 บริษัทได้โอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่ และมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้รับประกันภัยเสร็จสิ้นแล้ว

    3.2 บริษัทประกันภัยสามารถแสดงหลักฐานให้เห็นว่าไม่มีหนี้สินหรือภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยแล้ว

           4. ให้บริษัทผู้ขอเลิกกิจการดำเนินการดังต่อไปนี้

    4.1 แสดงแผนงานรายละเอียดของการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามมาตรา 28 ให้สำนักงาน คปภ. ทราบ

    4.2 ต้องจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามข้อ 4.1 ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดใน ข้อ 5 และในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ บริษัทต้องโอนทรัพย์สินและภาระผูกพันไปยังผู้รับโอน โดยแสดงหลักฐานว่าผู้รับโอนยินยอมรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวด้วย

   4.3 รายงานผลการดำเนินการตามข้อ 4.2 ให้แก่สำนักงาน คปภ. ทราบ

5. ระยะเวลาของการดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน คปภ. ร่วมกับบริษัทกำหนด ทั้งนี้ ให้บริษัทแจ้งให้สำนักงาน คปภ. ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการพิจารณาจากคณะกรรมการ คปภ.

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะที่สำคัญเช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การโอนกิจการตามมาตรา 13 ดังนั้น เมื่อบริษัทได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาข้างต้นครบถ้วนแล้ว ให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการมายังสำนักงาน คปภ. เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาอนุญาตเลิกกิจการต่อไป

ส่วนประเด็นที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขอให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาอำนวยการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนด นั้น คณะกรรมการ คปภ. เห็นว่าตามมาตรา 79 บัญญัติให้กองทุนประกันวินาศภัยมีหน้าที่คุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณี “บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย” และเพื่อ“พัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ” แต่ไม่รวมกรณีบริษัทขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเองตามมาตรา 57 จึงไม่สามารถเข้ามาดำเนินการในขั้นตอนการเลิกประกอบธุรกิจตามคำขอของทั้งสองบริษัทดังกล่าว

ขั้นตอนต่อไปสำนักงาน คปภ. จะได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้างต้นแก่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นจะจัดประชุมร่วมกับบริษัทเพื่อทำความเข้าใจ และดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการเลิกกิจการตามมาตรา 57 โดยคณะกรรมการ คปภ. ได้มอบหมายคณะอนุกรรมการกฎหมายช่วยกำกับดูแลในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ จะรายงานความคืบหน้าเพื่อให้คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายในการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ ในระหว่างที่บริษัทยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจาก คณะกรรมการ คปภ. บริษัทยังต้องประกอบธุรกิจตามปกติ ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทได้เช่นเดิม